Sunday, May 10, 2009

O (K) ไหม การจัดการประเทศไทย

การที่ผู้เขียนทำงานด้านการจัดการกลยุทธธุรกิจและบริหารคนแนวใหม่  บางครั้งก็ฉีกแนวออกมาเสนอแนะในเชิงนโยบายของประเทศผ่านทางสื่อมวลชนบ้าง  หรือไม่ก็ในเวทีสัมมนาต่างๆ ที่เชิญผู้เขียนไปบรรยาย  แต่ส่วนใหญ่มักจะขีดขอบเขตอยู่ในธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่า
  ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศมีอะไรที่ถึงจุดซึ่งคนที่มีสำนึกรักประเทศและอยากตอบแทนคุณแผ่นดิน  คงต้องพิจารณาการบริหารจัดการของประเทศและช่วยกันเปิดหูเปิดตาประชาชนบางส่วนที่ยังติดหรือหลงอยู่กับความฝันในอดีต  ซึ่งดูเหมือนดีเปรียบได้ดัง “ข้างนอกสุกใส ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง”
  ผู้เขียนมีกรณีตัวอย่างขององค์กรที่เคยทำงานมาในอดีตที่น่าจะหยิบยกมาเล่าในช่วงเวลานี้ซึ่งเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

  กรณีที่ 1   ไม่จัดการอย่างเด็ดขาดกับคนที่สร้างปัญหา

ในธนาคารแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนทำงาน  ผู้บริหารระดับสูง  ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้เขียนได้เปรยๆ กับผู้เขียนว่า ผู้บริหารที่เป็นหัวหน้าโดยตรงนั้นทำงานหรือไม่อย่างไร  เพราะเห็นไม่เคยอยู่ที่สำนักงาน  ได้แต่ตระเวนไปตึกโน้นตึกนี้คุยหมดเวลาไปวันๆ
  ผู้เขียนได้แต่บอกให้ผู้บริหารระดับสูงทราบว่า  ในความเป็นจริงแล้วงานส่วนใหญ่ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการและที่ท่านรู้ก็เป็นจริงอย่างนั้นและผู้บริหารท่านนี้ไม่เพียงไปคุยเท่านั้น  ยังสุมไฟเผาบ้านตนเองและให้ร้ายผู้บริหารระดับสูงท่านนี้ด้วย
  พอเวลาผ่านไปอีก 2-3 เดือนได้มีโอกาสคุยกันในเรื่องผู้บริหารที่เป็นหัวหน้าโดยตรงของผู้เขียนอีกครั้ง  ผู้เขียนจึงเสนอเชิงความเห็นว่า ถ้าผมเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงและต้องเผชิญกับปัญหานี้จะจัดการดังนี้

1. การอาศัยความเป็นสุภาพบุรุษกับคนที่มีจิตใจคับแคบและเป็นวัสสการ-พราหมณ์  ปัญหาดังกล่าวคงไม่จบลงง่ายๆ
2. ธนาคารเป็นองค์กรที่ต้องอาศัย “ความเชื่อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ามาใช้บริการ  หากเรามีผู้บริหารในลักษณะดังกล่าวแล้วเกิดปัญหานี้เมื่อกระจายออกไปสู่ภายนอกจนถึงลูกค้าปัญหาจะลุกลามใหญ่โตและอาจนำวิกฤตมาสู่ธนาคารได้
3. การที่มีบุคคลซึ่งเป็นปัญหาแล้วไม่ดำเนินการใดๆ นั้นในช่วงแรกๆ ทุกคนในธนาคารโดยเฉพาะผู้บริหารท่านอื่นก็จะเชื่อตามที่เราบอก  แต่พอเวลาผ่านไป เช่น นาน 6 เดือนแต่ทำอะไรไม่ได้  คนที่เป็นปัญหาจะไม่ใช่บุคคลที่เป็นผู้บริหารคนนั้น  แต่จะกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงเสียเอง
ผู้เขียนทิ้งคำตอบให้ท่านผู้บริหารหรือผู้อ่านคาดเดาเอาเองว่าเรื่องจะจบอย่างไร

กรณีที่ 2   การโจมตีค่าเงินบาทของประเทศไทยจากพวกอีแร้งฟันด์ (Hedge Fund) หรือ       กลุ่มพ่อค้าโจร (Robber Baron)
ผู้เขียนคิดว่า เราคนไทยไม่ลืมช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี 2539  ทุกครั้งที่มีการโจมตีค่าเงินบาทนั้นนักวิเคราะห์และวิชาการด้านการเงินจะสรุปว่า ผู้ที่สามารถโจมตีค่าเงินเพื่อเก็งกำไรหรืออาจถึงกับต้องการยึดเศรษฐกิจและธุรกิจทั้งหมดนั้นมักจะเกิดมาจาก
(1) กลุ่มอีแร้งฟันด์ (Hedge Fund) หรือพวกพ่อค้าโจร (Robber Baron) ที่มีเงินทุนก้อนโตไล่ทุบหรือเก็งกำไรเงินดอลลาร์ ทองคำและน้ำมัน
(2) กลุ่มธุรกิจการเงินที่สามารถถือครองเงินสกุลดอลลาร์ หรือทำการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ได้  ซึ่งกลุ่มนี้มีขีดความสามารถในการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือการซื้อขายเงินล่วงหน้า  กลุ่มนี้เป็นพวกกองหนุนคือ ถ้าดูแล้วมีโอกาสทำกำไรก็จะโดดเข้าร่วมวงโจมตีค่าเงินด้วยในทันที
ถึงขนาดที่ช่วงนั้นลือกันว่า  ถ้าขาดทุนในด้านอัตราแลกเปลี่ยนธุรกิจจะเป็นผู้รับผิดชอบ (องค์กรเจ๊ง!) แต่ถ้ากำไรจะเข้ากระเป๋าผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ
(3) กลุ่มที่ธนาคารชาติจะปกป้องหรือคุ้มครองคือ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ส่งออกสินค้านำเงินเข้าประเทศ  ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการฯ กลุ่มนี้  ธนาคารชาติจะเอาเงินสำรองคือดอลลาร์มาปกป้องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนทำให้การส่งออกมีปัญหา (แต่ในความเป็นจริงที่ไม่พูดกันให้ชาวบ้านอย่างเรารู้คือ ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรต่างๆ หรือแม้กระทั่งน้ำมันดิบที่ซื้อราคาจะถูกกว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น  นี่คือกำไรที่ผู้ประกอบการอุตสาห-กรรมไม่เคยพูดถึง)
      กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออก  จะมีสำนักงานตัวแทนอยู่ในต่างประเทศเมื่อค้าขายได้เงินดอลลาร์มา  จะเป็นกลุ่มที่กำไรและค้าเงินไปด้วย  ซึ่งจะทำตัวเหมือนกลุ่ม (1) และ กลุ่ม (2) ทันทีเพราะ เงินๆๆๆๆ นั่นเอง  ทั้งๆ ที่ธนาคารชาติเอาเงินสำรองไปยันค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้แข็งค่าเกินไปก็ช่วยเหลือเหล่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกที่ต้องดูแลเป็นอย่างดี
      ทุกครั้งที่มีการแข็งค่าของเงินบาทหรือมีการเก็งกำไรเงินดอลลาร์จะเกิดจาก  กลุ่มธุรกิจจาก 3 กลุ่มนี้เป็นหลักเท่านั้น  แม้ว่าอาจจะมีบริษัทใหญ่ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีขีดความสามารถทำได้เพราะสามารถระดมทุนหรือมีการออกหุ้นกู้ได้ ฯลฯ แต่จะเป็นกลุ่มตามแห่เสียมากกว่า  ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีปัญญาไปทุบค่าเงินเพื่อเก็งกำไรกับเขาหรอกครับ!
      การแข็งค่าเงินในปัจจุบัน  อาจจะเป็นเหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมตามที่เล่ามาก็ได้  แต่ที่น่ากลัวคือ สมมติว่าหากมีใครที่มีเงินมากๆ พอๆ กับกองทุนอีแร็งฟันด์ต้องการโจมตีค่าเงินบาทก็ทำได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต้องการของประเทศไทยคือ  การมองในเชิงของการวิเคราะห์ด้านการจัดการของประเทศ
ประการแรก  โอกาสที่จะสร้างคุณความดีให้กับแผ่นดิน

ผู้เขียนมองในเชิงวิเคราะห์ว่า  เราเกิดมาได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติในยามที่ชาติต้องการนั้นเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุด  ถ้าหากใครก็ตามที่มีความพร้อมเพียงพอ เช่น คณะรัฐมนตรี  หากได้มีสำนึกเช่นนี้ประเทศชาติจะมีโอกาสที่พัฒนาได้อีกมาก


ประการต่อมา  การที่ผู้บริหารประเทศมาจากฟากทหารและข้าราชการเกษียณ  รวมทั้งกลุ่มบุคลากรที่ทำงานด้านรากหญ้า  สะท้อนให้เห็นชัดว่า
@ เทคโนโลยีหรือวิธีวิทยาการในด้านการบริหารจัดการดูประหนึ่งว่า  มีองค์ความรู้ที่ล้าหลังและไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
@  เป็นสภาพของคนที่อยู่ในอาการ “Culture Shock” คือไม่สามารถปรับตัวได้  “จึงทำงานตามเวลา” แต่ไม่อาจที่จะก้าวเข้ามาเป็น “ผู้สร้างเครื่องบอกเวลาได้”
@  วิธีการบริหารจะต้อง “บริหารบนโลกของความจริง” ครับ  เมื่อเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจหนุนจากการรัฐประการ  ก็ควรฉลาดที่จะใช้อำนาจนั้น  ไม่ใช่คิดและทำแบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (เพราะเขามีเวลาที่จะลากยาวได้ตั้ง 4 ปีหรืออาจะถึง 8 ปี)
  6 เดือนที่เหลืออยู่นี้ถ้าปรับวิธีการบริหารจัดการใหม่  ถ้าเป็นโรงเหล้า ป่านนี้ขวดเบียร์คู่แข่งที่ซื้อมาจากพ่อค้าขายขวดซื้อได้ในราคาถูกๆคงกรอกน้ำ เขย่าขวด ติดฉลากใหม่ออกสู่ตลาด รับรองขายดีระเบิด!!!


  ประการสุดท้าย  ประเทศไทยจะ “O(K)” ไหมนี่  สิ่งที่ดูร้ายๆ ทั้งหลายน่ะเป็น “มือที่มองไม่เห็น” แต่ตาวิเศษเห็นนะ!หากรัฐบาลอยากจะทำอะไรก็ทำจริงๆ เสียที ผมเพิ่งกลับมาจากจังหวัดภูเก็ตดูแล้วคนละเรื่องกับกรุงเทพเลยครับ  เศรษฐกิจที่นั่นมีนักท่องเที่ยว การค้าขายอสังหาริมทรัพย์  ค้าเพชรค้าทอง สถานบันเทิงโดยเฉพาะเรือยอร์ทราคานับสิบๆ ล้านมาจอดเทียบท่าขายดิบขายดีดูไฮโซยังไงยังงั้นจริงๆ  ขณะที่กรุงเทพได้เปลี่ยนเป็นเวทีไฮปาร์ค ชุมนุมม็อบ ฯลฯ ดูไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศที่กำลังพัฒนาเลย!!!
  ถ้าจะให้ O(K) คงต้องปรับวิธีการบริหารจัดการใหม่  ใครจะว่ายังไงก็ช่างเฉพาะทำแบบรีเอ็นจิเนียดีกว่า  การบริหารแบบประเภทประชุมถามความเห็น ตั้งคณะทำงาน วางแผน น่าจะเลิกได้ มิฉะนั้นอาจตกขบวนประเทศเกิดใหม่นะจะบอกให้

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: