Sunday, May 10, 2009

ธุรกิจและชาติต้องเดินหน้า หมดเวลารอแล้ว!

ประเทศไทยมีโมเดลใหม่ออกมาต่อเนื่องในช่วง 5 ปีของการพัฒนาให้ก้าวสู่ความทันสมัย แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าโดยข้อเท็จจริง สถาบัน imd ซึ่งจัดอันดับแข่งขันของประเทศต่างๆ ของโลก ในปี 2549 ผลการจัดอันดับความสามารถแข่งขัน ปรากฏว่า อันดับที่ 1-4 ยังคงเหมือนเดิมคือ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา อันดับ 2 ฮ่องกง อันดับ 3 สิงคโปร์ และอันดับ 4 ไอซ์แลนด์

ประเทศไทยในภาวะวิกฤติผู้นำประเทศ ตกลงมา 5 อันดับจากอันดับ 27 ไปอยู่อันดับ 32 ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนสอบเอเน็ตละครับ ได้คะแนน 62.57% ถ้านำมาตั้งเป็นสมมติฐานก็จะเห็นภาพเกี่ยวกับธุรกิจและการแข่งขันของประเทศดังนี้

ประการที่หนึ่ง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ “พลวัต” หรือกลไกที่แท้จริงอยู่ที่ "ภาคเอกชน" เป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่า เพราะที่ภาครัฐทุ่มงบประมาณลงไปที่รากหญ้า การปราบปรามยาเสพติด สิ่งเหล่านี้ไม่แน่ใจว่าจะทำให้ผลิตภาพ (productivity) ของประเทศสูงขึ้น แต่สิ่งที่ธุรกิจส่งออกหรือเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนแท้จริง

ประการที่สอง ถ้าภาครัฐได้ทำหน้าที่เชิงนโยบายและสนับสนุนส่งเสริมโดยพื้นฐาน เป็นคำอธิบายการทำหน้าที่ของภาครัฐจากแนวคิดของพอร์เตอร์ ที่เสนอไว้ในโมเดลเพชร (diamond model) ดังนั้น การดึงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการไปโรดโชว์หรือการเปิดให้สิทธิพิเศษด้านส่งเสริมการลงทุน ไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนอยู่อีกหรือไม่ หรือมีสัญญาณอะไรบ่งบอกว่า ภาคเอกชนต้องขับเคลื่อนให้เร็วกว่านี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลของโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา โดยสอบถามถึงคุณภาพของพนักงานในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง พบว่า

1.โรงงานอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราขณะนี้มองว่า เราไม่ใช่แหล่งที่ได้เปรียบในการลงทุน ทั้งนี้เพราะว่าค่าแรงของระดับแรงงานไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว และมีที่อื่นซึ่งถูกกว่า เช่น จีน เวียดนาม และประเทศเกิดใหม่

2.เทคโนโลยีในการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและยกระดับความรู้ที่สูงขึ้น แต่แรงงานไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยกระดับความรู้และทักษะให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้หรือทำได้ช้ามาก จึงทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหาแหล่งการผลิตใหม่ หรือมองแหล่งที่จะลงทุนใหม่

ประการที่สาม สภาพปัญหาจริงๆ ของธุรกิจไทย ผู้เขียนได้พบผลสำรวจของยูพีเอส เอเชีย บิสสิเนส มอนิเตอร์ ครั้งที่ 2 จากความเห็นของผู้นำองค์การธุรกิจ SMEs ในเอเชีย-แปซิฟิก 12 ประเทศ รวม 1,203 ราย ระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548- มกราคม 2549 พบว่า ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันของธุรกิจ SMEs ที่สูง 3 อันดับแรก คือ จีน (70%) ญี่ปุ่น (58%) และเกาหลีใต้ (55%) ส่วนไทย อยู่ในอันดับ 9 (32%) เหนือกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ปัญหาหลักของธุรกิจ SMEs ของไทย ประกอบด้วย การเข้าถึงตลาดต่างประเทศ กฎระเบียบของรัฐบาล กระแสเงินสดและการเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งปัญหาในการเติบโตและส่งผลต่อความสามารถแข่งขัน เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทุนดำเนินการ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ และนวัตกรรม

ประการสุดท้าย ธุรกิจและชาติต้องการอะไรเพื่อการแข่งขัน สิ่งที่ธุรกิจและชาติต้องการให้สามารถแข่งขันได้ มีคำถามถึงความจำเป็นที่จะต้องรอผู้นำประเทศหรือรัฐบาลใหม่เพื่อการแข่งขันใช่หรือไม่

คำตอบคือ ธุรกิจต้องแข่งขันด้วยตนเองก่อน เพราะการนั่งรอของธุรกิจอาจพลาดโอกาสในการแข่งขันไปก็ได้ โดยเฉพาะธุรกิจระดับภูมิภาคเอเชียไม่ว่า จีน อินเดีย เวียดนาม เขาไม่สนใจว่าในประเทศจะเป็นอย่างไร ธุรกิจต้องเดินก่อน (แม้ว่าจริง ๆ อยากจะให้บ้านเมืองสงบหรือ มีความมั่นคงทางการเมืองก็ตาม)

ในช่วงที่ผู้เขียนไปเที่ยวที่ซิดนีย์ ยังมีโอกาสได้พบสินค้าที่ทำมาจากกัมพูชา สิ่งนี้หมายความว่า ถ้าเราโชคดีได้ผู้นำประเทศที่ดี มีจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง คนในชาตินั้นก็โชคดี สามารถมีต้นทุนที่ดีในการแข่งขันกับประเทศอื่น 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องรออะไรอีกต่อไป เพราะธุรกิจที่น่าสนใจมากๆ สำหรับนักธุรกิจไทยถ้าหากต้องการเจาะตลาดเข้าไปยังออสเตรเลีย มีอยู่ 2 ธุรกิจที่ทำได้อย่างชัวร์ 100% คือ ธุรกิจร้านอาหารไทยกับธุรกิจสปา 
(ในด้านข้อกฎหมาย การลงทุน หรือ การขออนุญาตเข้าเมือง และ การมีใบวุฒิบัตรอาชีพ เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเรียนรู้และศึกษาก่อนไปทำธุรกิจต่างประเทศนะครับ)
ธุรกิจร้านอาหารไทยสามารถเข้าไปเจาะตลาดตามชุมชนหรือถิ่นที่มีไชน่าทาวน์ตั้งอยู่ เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่นิยมมากและสนนราคาก็สูงเอาเรื่อง แต่คนกลับเต็มร้านหรือขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในช่วงศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ขณะที่ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่เริ่มตื่นตัวและมีมากขึ้น สามารถแข่งขันได้อย่างสบายมากๆ

ดังนั้น 
ผู้ประกอบการต้องเข้าใจถึง “ลูกค้า” ที่จะมาใช้บริการว่าจะมีมูลค่าเพิ่มอะไรที่จะเสนอให้ ขณะเดียวกันก็หนีไม่พ้นต้องมี “นวัตกรรม” หรืออะไรที่เป็นความคิดใหม่แล้วเกิดผลเชิงพาณิชย์ เพราะสิ่งนี้เป็นความแตกต่างในผลิตภัณฑ์และบริการ สุดท้าย “ภูมิศาสตร์ประเทศ/ภูมิทัศน์ของประเทศ” หมายถึง ทำเลที่ตั้งหรือเมืองใดที่เราจะใช้กลยุทธการตลาดเจาะเข้าไป 

เหนือสิ่งอื่นใดต้องสื่อสารด้วยภาษาที่ลูกค้าเข้าใจ ผู้เขียนจึงเชื่อว่า นักธุรกิจรุ่นใหม่ทำได้ ส่วนพนักงานหาได้ไม่ยากเพราะมีนักเรียนไทยและคนไทยรับทำงานทั้งเต็มเวลาและบางเวลาอยู่พอสมควร

โดยสรุป การที่จะมีผู้นำประเทศคนใหม่อย่างไร กระบวนการโดยระบบที่น่าเชื่อถือได้จากการเลือกตั้งคงสามารถดำเนินการได้ ผู้ประกอบการธุรกิจถึงเวลาเดินหน้าได้แล้วครับ หมดเวลากังวลหรือรอว่าสถานการณ์น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หากช้ากว่านี้อาจจะแพ้ประเทศกลุ่มอินโดจีนก็ได้ใครจะไปรู้? เพราะตอนนี้เราแพ้แน่ ๆแล้วครับ คือ NIEs (ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงค์โปร์)

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: