Sunday, May 10, 2009

ยกเลิกระบบ ซี ผลิตภัณฑ์ใหม่ปฏิรูปราชการ

การปฏิรูปราชการ เห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด ในรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งแต่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เกี่ยวกับการตั้งกระทรวง ทบวง กรม และการจัดแบ่งส่วนราชการ และร้อนที่สุดตามที่มีข่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ ที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ สรุปง่ายๆ คือ ยกเลิกระบบซี (C : Common Level) 

หรือระบบตำแหน่ง (พีซี) (PC : Position Classification) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบบ PC ถ้าอธิบายให้ง่ายจะเป็นเรื่องของการกำหนดตำแหน่งข้าราชการทั้งหมดว่า จะมีตำแหน่งหน้าที่อย่างไร และถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ใครที่ตำแหน่งสูงกว่าจะได้รับเงินเดือนมากกว่า เช่น ซี 11 จะมีเงินเดือนสูงกว่า ซี 1 ซึ่งในระบบตำแหน่งเดิมนั้น จะมีซีตั้งแต่ซี 1 จนถึงซี 11 (ตำแหน่งปลัดกระทรวง) 

ท่านที่ไม่อยู่ในระบบราชการ อาจจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีอยู่แล้ว เพราะว่าในภาคเอกชนจะมีการใช้ระบบกำหนดตำแหน่งแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่ระบบซี หรือระบบ PC มาก่อนภาคราชการหลายปีแล้ว ระบบนี้เรียกกันว่า ระบบบรอดแบนด์ (Braodbanding) 

ระบบบรอดแบนด์ที่ว่านี้ ภาคเอกชนที่มีการใช้นั้น มีผลมาจากการปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ เช่น แนวคิดในการแข่งขันทางธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือทางกลยุทธ์ใหม่ อาทิ การใช้แนวคิดของการประเมินองค์กรแบบสมดุล (BSC) หรือดัชนีวัดผลสำเร็จธุรกิจ (KPIs) มีการตลาดสมัยใหม่ที่เน้นวัฒนธรรม (Cultural Marketing) 

เมื่อธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรุนแรงและเร็ว จึงอยากรู้ว่า คนที่มีความสามารถ (Competence) สูงนั้น จะทำให้ธุรกิจมีผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ก็จะใช้ดัชนีวัดผลสำเร็จธุรกิจเข้ามาวัด 

ส่วนการจะให้รางวัลตอบแทน ทั้งความก้าวหน้าในชีวิต หรือหน้าที่การงาน และประโยชน์เพิ่มต่างๆ โดยเฉพาะเงินเดือนในระบบใหม่ จะให้ตามความสามารถ ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการที่ภาคเอกชนนำระบบบรอดแบนด์เข้ามากำหนดตำแหน่งของกลุ่มงาน หรือกลุ่มคนทำงานในองค์กร และเมื่อทำดังนั้นได้แล้ว ก็จะจ่ายค่าตอบแทนในระบบที่เป็นช่วงกว้าง ค่าจ้างตามแนวคิดของบรอดแบนด์อีกเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ยินในภาคเอกชนพูดถึง คือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลสำเร็จ (Pay for Result) ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ค่าตอบแทนตามความสามารถ ค่าตอบแทนตามทักษะ และค่าตอบแทนตามผลงาน 

เมื่อองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะองค์กรกลางด้านบริหารงานบุคคล เช่น สำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอให้ "เลิกระบบซี" หรือ "ล้มกระดานในระบบตำแหน่ง" ที่ใช้อยู่เดิม ต้องขอชื่นชมว่า เป็นความพยายาม และเป็นความกล้าหาญทางวิชาการด้านบริหารงานบุคคลที่สูงยิ่ง โดยเฉพาะการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้มีความเข้าใจและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ เลิกระบบ "ซี" ผลิตภัณฑ์ใหม่ของการบริหารคน 

ในการบริหารคน หรือบริหารงานบุคคล สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญมากๆ คือ ระบบตำแหน่ง หรือที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นเคยว่า "ซี" นั่นเอง 

สิ่งที่เป็น "ผลผลิต" (Output) ที่ชัดเจนที่สุดในการปฏิรูปราชการเท่าที่ได้มีโอกาสติดตามข่าวคราวจากหลายแห่ง จะพบได้ คือการแก้ไขระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการจัดโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม และการแบ่งส่วนราชการใหม่ การมี ก.พ.ร. (หน่วยงานด้านบริหารบุคคลกลางอีกหน่วยหนึ่ง) เกิดขึ้นตามมาจากการแก้ไขระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเชื่อว่าคงมีความมึนงง ระหว่าง ก.พ.ร.กับสำนักงาน ก.พ. พอสมควร ว่าใครทำอะไร และยังจะได้ยินอีกว่าในแต่ละกระทรวง มี "ก.พ.ร.เล็ก" ทุกกระทรวง 

การมี "พนักงานราชการ" เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2547 สิ่งที่น่าสนใจมาก คือ เป็นแนวคิดที่จะใช้การจ้างบริการภายนอก (Outsourcing) ในระบบราชการมากขึ้น การให้บุคคลที่อยู่ในภาคอื่น เข้ามาสู่ระบบราชการได้ และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การเลิกระบบ "ซี" หรือล้มกระดานระบบ PC เพราะว่าจะทำให้ภาคราชการมีการปฏิรูปแท้จริง การปฏิรูปราชการเท่าที่ผ่านมาจะคงชำนาญ และเชี่ยวชาญในเรื่องของกฎหมายเสียเป็นหลักใหญ่ เช่น แก้ไข พ.ร.บ.  ออกพ.ร.บ.ใหม่ ออกระเบียบใหม่

แต่หัวใจจริงๆ ของการปฏิรูปราชการอยู่ที่ "ระบบตำแหน่ง" (Position Classification) โดยเฉพาะระบบตำแหน่งแบบใหม่ ที่ภาคเอกชนใช้อยู่ เป็นเพราะว่า 

1) การกำหนดตำแหน่งหรือระดับ เช่น กลุ่มตำแหน่งบริหาร กลุ่มอำนวยการ กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ กลุ่มวิชาการ กลุ่มทักษะพิเศษ และกลุ่มทั่วไป เป็นการกำหนดตำแหน่งตามความสามารถของบุคคล 

2) การวัดผลงานหรือระบบจัดการผลงาน จะเป็นการวัดตามผลสำเร็จ หรือใช้ KPIs เป็นส่วนหนึ่ง ในการวัดผลสำเร็จกับการวัดความสามารถ (Competency Assessment) ในอีกมิติหนึ่ง 

3) ค่าตอบแทนหรือเงินเดือน-ค่าจ้าง จะจ่ายตามระบบตำแหน่งแบบใหม่ ที่เรียกว่า บรอดแบนด์ (Braodbanding) ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าระบบเงินเดือนที่มีอยู่โดยทั่วไป หากสามารถใช้ได้ถูกต้อง 

4) การพัฒนาบุคลากรจะเป็นไปตามสายทางก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ในกลุ่มตำแหน่งของตนเอง โดยไม่มีความจำเป็นต้องก้าวข้ามกลุ่มตำแหน่ง ยกเว้นในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบไปสู่หน้าที่ด้านการบริหาร 

5) การจะได้บุคคลหรือทรัพยากรคน ที่เป็น "คนเก่ง" (Talent People) เข้ามาสู่ระบบราชการ เพราะจะอยู่ภาคไหนๆ ก็เหมือนกัน ถ้าใช้ระบบตำแหน่งแบบใหม่นี้ยกเว้นว่า ผู้บริหารระดับสูงสุดของระบบราชการมีแนวคิด และวิธีทำงานแบบเดิมถึงเปลี่ยนไปก็ไลฟ์บอย 

น่าสนใจจริงๆ ที่ภาคราชการมีผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นการปฏิรูประบบราชการ หากท่านผู้อ่านได้อ่านข้อสังเกตด้วยแล้ว ยิ่งน่าสนใจมากว่า เป็นการต่อสู้ทางแนวคิดของผู้บริหารในมิติของการบริหารคน จากศตวรรษที่ 20 กับศตวรรษที่ 21

ปล.ข้อเขียนนี้ผมเคยเขียนไว้ในช่วงที่ ระบบราชการคิดจะยกเลิก ซึ และขณะนี้ ได้เสนอความเห็นชอบผ่าน ครม.แล้วจึงคิดว่าขอนำมาเสนออีกครั้งเพราะสอดรับกันพอดี

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants


No comments: