Sunday, May 10, 2009

คิดและทำงานพัฒนาระดับชาติแบบไทย ๆ

ก่อนหน้านี้เมื่อเรามองดูการพัฒนาของธุรกิจหรือการพัฒนาประเทศ ส่วนใหญ่เรามักจะมองดูการพัฒนาของประเทศสิงคโปร์ แต่ไปๆ มาๆ กลับไม่โดดเด่นอย่างที่คิด แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาธุรกิจและประเทศสิงคโปร์คือ ความโปร่งใสและคอร์รัปชันในประเทศต่ำมากๆ หรืออาจจะเรียกว่า ประเทศใสสะอาดเลยก็ว่าได้

ขณะเดียวกันพอก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 กลับมีการเปลี่ยนกันขนานใหญ่ ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกโดยเฉพาะการเติบโตของเอเชียแต่ไม่ใช่สิงคโปร์หรือประเทศไทย 

ในบริบทขององค์กรภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานราชการจะมีความคิดและวิถีปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่งคือ มักจะชอบว่าจ้างหรือให้มีการประมูลงานให้บริษัท-เอกชนหรือผู้รับเหมาช่วงเข้ามาดำเนินการไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

เหตุผลที่หนักแน่นมากที่สุดดูจะเป็นเรื่อง ความไม่รู้ในสิ่งที่ทำ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือจ้างฝรั่งหรือบริษัทที่ปรึกษาให้เข้ามาดำเนินการดูจะเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เรื่องของเรื่องมักจะเกิดอยู่เสมอๆ ซึ่งพรรคพวกหรือผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานกึ่งรัฐช่วยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

หน่วยงานของเขานั้นไม่ค่อยได้ทำอะไรหรอก เพราะใช้วิธีว่าจ้างหมดหรือสมัยใหม่เรียกว่า การใช้บริการจากภายนอก (Outsourcing) เมื่อคิดได้ดังนั้นก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อ

1) ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ไม่ว่าตาจะสีอะไรได้ทั้งนั้น แต่ถ้าตาสีฟ้าดูจะมีภาษีหน่อยเพราะพูดอะไรออกมาเป็นที่น่าเคารพสักการะเสียเป็นส่วนใหญ่

2) เมื่อลงมือทำการประชันขันแข่งกันทั้งด้านเทคนิคและสรรพความรู้ที่จะระดมกันมา ซึ่งอาจจะขนมาจากนอกบ้านเราก็มีขอเพียงให้ได้งาน แล้วไปว่าจ้างต่อหรือส่งพวกมือสมัครเล่นเข้ามาก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะทั้งองค์กรไม่ได้มีใครสนใจจริงๆ จังๆ อยู่แล้ว เนื่องจากไม่ใช่องค์กรของเรา เงินก็ไม่ใช่ของเรา ขณะเดียวกันจะได้มีงานทำแถมนำไปเป็นป้ายฉลากอ้างอิงคุณภาพได้อีก

3) ดังนั้นพอคัดเลือกได้ก็จะลงมือทำงาน บริษัทที่ได้รับงานจะมีการส่งงานเป็นงวดๆ แล้วจะมีคนชุดหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับงาน ถ้าผ่านเรียบร้อยจะจ่ายเงินตามงวดดังกล่าว

4)ผลลัพธ์จะมีทั้งใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้างผสมเคล้ากันไป แต่ถ้าเป็นประเภทรับเหมาก่อสร้างดูจะได้ชิ้นงานเป็นน้ำเป็นนวล แต่จะมั่นคงถาวรแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นของเรื่องจึงดูเหมือนจะเกิดขึ้นคล้ายๆ กันในทุกหน่วยงานของทั้งภาครัฐและองค์การต่างๆ ของรัฐ อาทิ

๐ประเด็นที่น่าสนใจคือ หากองค์กรหรือหน่วยงานไม่มีความรู้ในเรื่องที่ว่าจ้างให้ทำ เมื่อว่าจ้างให้บริษัทต่างๆ เข้ามาทำให้แล้วส่งมอบงาน องค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ จะมีความรู้หรือองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวนั้นได้อย่างไรเพราะตั้งแต่แรกก็ไม่มีใครรู้อยู่แล้ว

๐ผู้เขียนเคยได้ยินผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการชั้นนำแห่งหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า “ได้ฟังบริษัทที่ปรึกษามานำเสนอโครงการ (Proposal) จนกระทั่งเกิดความเข้าใจในเรื่องที่ทำแล้ว” จึงเกิดความสงสัยว่าลำพังคนที่ทำและปฏิบัติอยู่ในเรื่องนั้นๆ จะหาความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยังยาก อาทิในเรื่องของวิสัยทัศน์ ภารกิจและกลยุทธ์ เรื่องการจัดการความรู้ (ฮือฮากันมากในภาครัฐ แต่เอาเข้าใจจริงๆ จะมีสักแค่ไหนกันใครที่รู้จริงๆ) หรือเรื่องความสามารถก็พูดกันมาก

ฉะนั้นลำพังเพียงโครงการที่นำเสนอเข้าใจได้ดูจะฉลาดเหนือธรรมดา แล้วไปจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำไม และเมื่อเป็นสิ่งต่อเนื่องจากประการแรกคือ ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ว่าจ้างให้ที่ปรึกษาเข้ามาทำแล้วองค์กรที่ว่าจ้างจะรู้ได้อย่างไรว่าความรู้ที่ได้มาจากที่ปรึกษาหรือบริษัทรับเหมางานนั้นๆ เป็นความรู้ทางเทคนิคที่ถูกต้อง ไม่ย้อมแมวขายหรือเราโชคดีได้ของเลหลังราคาถูกแลกกับไก่กับหมู

๐ประเด็นที่น่าตื่นเต้นต่อมาคือ คณะกรรมการตรวจรับเมื่อองค์กรหรือหน่วยงานดังกล่าว ไม่มีความรู้ในเรื่องที่ว่าจ้างให้มาทำแล้วคณะกรรมการตรวจรับจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวิชาการหรือความรู้เฉพาะด้านยิ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ ซึ่งได้จัดทำงานในโครงการหนึ่งที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านของบริหารคนที่องค์กรไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องดังกล่าว องค์กรได้มอบให้ผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการหน่วยงานทำหน้าที่ตรวจรับงาน ปรากฏว่างานบริหารที่ท่านนี้ทำก็ไม่ได้ดีอยู่แล้ว มาตรวจรับงานจึงว่าตามตัวอักษรกลายเป็นโอละพ่อไปเลย แต่ถ้าจ้างที่ปรึกษาให้ทำทุกชุดซึ่งมีบางหน่วยงานได้ทำแบบนี้ด้วยแล้ว สุดท้ายองค์กรดังกล่าวจะได้อะไรจริงๆ ครับ น่าสงสัยมาก

เห็นไหมล่ะครับ! นี่ขนาดเรื่องง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรในสิ่งที่องค์กรไม่มีความรู้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษามาทำให้หมด แล้วถามจริงๆ เลยจะรู้อะไรหรือฉลาดขึ้นมาได้อย่างไร

 ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เขามีขอบเขตการว่าจ้างครับ 
อะไรที่เป็นทรัพยากรของชาติ อะไรที่เป็นองค์ความรู้ของชาติ อะไรที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของชาติ เขาไม่ว่าจ้างให้คนอื่นมาทำหรอกครับ แค่การเข้าถึงข้อมูลซึ่งไม่ใช่อเมริกันชนแท้ๆ ยังเข้าไม่ได้เลย หนังสือตำราบางชุดจะพิมพ์ขายเฉพาะในอเมริกาห้ามจำหน่ายต่างประเทศ 

ทำอย่างไรให้เรา (ประเทศไทย) สามารถดำรงอยู่และเข้าไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยึดมั่นในผลประโยขน์ของชาติมากกว่าคำพูดที่บอกว่ารักชาติ  ต้องเปลี่ยนความคิดและวิธีการพัฒนาในระบบราชการใหม่ครับมิฉะนั้นก็จะเป็นแบบนี้อีกยาวนานสำหรับประเทศเรา และรับรองได้ว่าคอร์รัปชันไม่มีวันหมดไปแน่  และถ้าจะลดคอรับชั่นได้จะต้องใช้วิธีการแบบเกาหลีใต้โดยเฉพาะคนระดับรัฐมนตรีที่ต้องติดคุกได้เท่านั้นครับ! จึงจะเป็นทางรอดใหม่ของประเทศ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: