ความอัศจรรย์ที่คนไทยมักจะคิด และทำอะไรเป็นคู่ขนาน อยู่ตลอดเวลา โดยถือว่าสิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทย ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นฐานทางด้านคติไทย หรือวัฒนธรรมทางความคิดของบรรพชนได้สรุปไว้ตามคำโบราณในทำนองที่ว่า "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" หรือ "รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง"
มิฉะนั้นสังคมไทยคงไม่มีคำว่า "Double Standard" มีการโปรโมทเรื่องธรรมาภิบาลที่ดี แต่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ฉ้อโกงผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมากมายที่จะพัฒนาความรู้ให้ประชาชน แต่ใบปริญญาก็ได้มาง่ายๆ ไม่ต่างไปจากการซื้อสินค้าตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน แต่ก็เป็นของมหาชนบางกลุ่ม และราคาสินค้าก็ขึ้นเอาๆ ไม่เคยลดลงเลย ยิ่งในยามที่น้ำมันขึ้นราคา
ประเด็นแรก ความสับสนด้านวัฒนธรรมทางปัญญา สังคมไทยดูจะเจริญ และมีพัฒนาการในแนวคิด ของการพัฒนาทางความรู้อยู่ไม่กี่อย่าง เช่น การพัฒนาจากการอ่านหนังสือ หรือตำรับตำราฝรั่งเป็นเกณฑ์ เพราะมักจะได้รับการนับถือ และยอมรับจากผู้มีอำนาจในสังคม ขณะเดียวกันการทำตามตำราหรือแนวคิดในหนังสือที่อ้างถึงนั้น มิได้ทำกันอย่างเข้าใจถึงแก่นลึกซึ้งเพียงพอ
ตัวอย่าง: องค์กรแห่งการเรียนรู้หรือสังคมการเรียนรู้ ที่มีพูดกันในเมืองไทยนับถึงปัจจุบันนานถึง 15 ปีมาแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจก็ดูประหนึ่งว่าสังคมไทยจะสนใจเพียงการสร้างทีมการเรียนรู้ การแบ่งปันวิสัยทัศน์ ส่วนสิ่งที่เป็นหัวใจมากๆ คือ การคิดเป็นระบบ และโมเดลทางความคิดดูจะถูกละเลย
ถ้าถามนักคิดก็บอกกันว่า เราควรมุ่งไปสู่สังคมการเรียนรู้ที่ดูประหนึ่งว่ามีศูนย์การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี มีคอมพิวเตอร์ในสถาบันการศึกษา และมีองค์การมหาชนด้านการศึกษาเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด เป็นเหมือนสูตรสำเร็จ แต่ถ้าเข้าไปสัมผัสกับสถาบันการศึกษาจะพบสิ่งที่เป็นเพียงกระพี้ และมีระบบควบคุมหรือตารางกักขังความรู้ความคิดที่จะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
ประเด็นที่สอง การวัดประสิทธิภาพขององค์กรรัฐวิสาหกิจ สังคมไทยมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่คู่กันมานาน และปัจจุบันรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง กำลังจะแปรรูปไปเป็นบริษัทมหาชน ภายใต้ผู้ถือหุ้นที่เป็นประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งเข้าถึงศูนย์กลางของอำนาจ เมื่อเป็นบริษัทมหาชนสิ่งที่คำนึงมากที่สุดคงไม่ใช่ "ประชาชน" แต่กลายเป็น "ผลกำไร หรือผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุน" มากกว่า
ตัวอย่าง: ดัชนีวัดผลสำเร็จขององค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะในเรื่องการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหากพิจารณาโดยภาพรวมนับว่าเป็นสิ่งที่ดี และน่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจนน่าตื่นเต้นคือ บริษัทรับจ้างประเมินรัฐวิสาหกิจจะทำกันเป็นระบบ (เป็นขบวนการ) คือ เข้าไปประเมินรัฐวิสาหกิจว่ามีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะปรับปรุงแก้ไข มีข้อเสนอแนะอย่างไร ที่น่าตกใจคือ ผู้ประเมินมักเป็นเด็กจบใหม่หรือมีประสบการณ์ในการทำงานน้อย ความรู้ในเรื่องที่ประเมินก็น้อย
ที่น่าตื่นตระหนก คือ บริษัทหรือหน่วยงานรับจ้างประเมิน จะรับหรือให้บริการเป็นที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจด้วย ก็คงเหมือนเข้าไปบอกว่า ไม่ดีอย่างไร ควรทำอะไร แล้วจะช่วยทำให้ได้คะแนนประเมินดี จะได้มีโบนัสที่ดี นี่ก็เป็น ทวิลักษณ์ของประเมินผลองค์กรหรือทำให้ดัชนีวัดผลสำเร็จขององค์กร กลายเป็น "Double Standard"
ประเด็นที่สาม บริโภคนิยมกับชุมชนพอเพียง ชาวบ้านอย่างเราๆ ต่างเกิดความสงสัยเหมือนกันว่า การกระตุ้นให้รากหญ้ามีเงิน ไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตาม ทั้งกู้หนี้หรือทำสินทรัพย์เป็นทุน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้มีกระแสเงินหมุนเวียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่นักเศรษฐศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ หรือฟากขาประจำกลับบอกว่า เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์กำมะลอ ก็เลยไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี (ปัจจุบันก็กระตุ้นรากแก้วอีกแล้ว)
แต่ที่เรารู้แน่ว่า การเป็นสังคมบริโภคนิยมคงไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะสุดท้ายเราคงเป็นทาสวัฒนธรรมตะวันตก ขายความคิด และหยาดเหงื่อแลกโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ บ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวก ซื้อน้ำมันแพง
ผู้เขียนจะชื่นชมมากหากผู้บริหารประเทศสามารถทำได้จริง ๆที่จะทำให้ประเทศก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่า (A New Value Creation Economy) เพราะถ้าทำให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนพอเพียงได้ผลิตสินค้าที่มีคุณค่าใหม่หรือมูลค่าแห่งความร่ำรวย ซึ่งจะได้มาจากสินทรัพย์ทางปัญญา
ทางออกของที่ดีในการเป็นรูปแบบทวิลักษณ์ของสังคมไทย ไม่ใช่ผิดหรือถูก เป็นมิตรหรือศัตรู แต่เป็นจุดยืนทางความคิดที่แตกต่างกัน ในกระบวนปรับเปลี่ยนสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา เป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ มากกว่าที่จะมาถกเถียงกันว่า จะเชื่อใครข้างไหน ดังนี้
1.กระบวนทัศน์การศึกษาวัฒนธรรม และวิธีปรับเปลี่ยนสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษา ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่บนองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสังคมไทย หรือบริบทของเมืองไทยจริงๆ เพราะวิธีการศึกษางานวิจัยในองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมยังอยู่ในวังวนของชุมชน ที่ยังมีความรู้ชุมชนที่ก้าวไม่พ้นชายขอบ พร้อมกับวัฒนธรรมที่ไหลบ่าของตะวันตก
2.กระบวนการคิดที่เป็นทัศนภาพ ที่คิดบนฐานตะวันตกในกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผลักหรือปรับเปลี่ยนสังคมโลก แต่การไม่ปรับกระบวนการคิดที่ตกผลึกบนกระบวนทัศน์ทางการศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม หรือบริบททางการเมือง ยังคงส่งผลต่อทวิลักษณ์ของสังคมไทยที่กินปลาร้า น้ำเต้าหู้ ผสมผสานกับสตาร์บัคส์ นม เนย แซนด์วิช และแมคโดนัลด์ อย่างอิ่มหมีพีมัน
3.กระบวนการปฏิบัติที่มีเมนูเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงการปรับเปลี่ยน/ปฏิรูประบบราชการสวยหรู แต่ไม่สามารถลงไปปรับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา บริหารราชการให้ขับเคลื่อนได้ เพราะผู้ปฏิบัติไม่ปฏิบัติ หรือตามความคิดไม่ทัน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงยืมมือคนอื่นทำให้ กลายเป็นทวิลักษณ์ ที่มีลักษณะคาบลูกคาบดอกเสียมากกว่าโลดแล่นบนเส้นทางหลักสายใหม่สู่ความรุ่งโรจน์ของประเทศไทยในอนาคต
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment