Thursday, August 13, 2009

บุญชู โรจนเสถียร : นักบริหารมืออาชีพ ซาร์เศรษฐกิจ และนักการเมืองเจ้าของแนวคิดประชานิยมคนแรกของไทย

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.52 ได้ดู ทีวีงานพระราชทานเพลิงศพคุณบุญชู โรจนเสถียร

ทำให้อดนึงถึง หนังสือเล่มแรกในชีวิตการเขียนของผมไมได้ เพราะหนังสือ นักบริหารมือาชีพ ที่พิมพ์เมื่อ ปี 2530 ท่านเป็นหนึ่งใน 6 นักบริหารมืออาชีพที่ผมได้เขียนถึง มีท่านอื่นคือ คุณเกษม จาติกวณิช คุณดุษฎี สวัสดิ์-ชูโต คุณบัญชา ล่ำซำ คุณมีชัย วีระไวทยะ และ ดร.อำนวย วีรวรรณ

สำหรับคุณบุญชู โรจนเสถียร ผมได้สรุป ความเป็นนักบริหารมืออาชีพไว้ดังนี้

หลักการบริหาร
(1)ให้ทุกคนในองค์การรู้วัตถุประสงค์ของงาน และจุดมุ่งหมายของตนว่าอยู่ในทิศทางใด
(2)ต้องรู้จักใช้คนให้ทำงานแทนตนได้
(3)ต้องรู้สิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
(4)ต้่องรู้จักวิธีการถ่ายทอด มอบหมายงาน การสื่อสารข้อความ การมอบอำนาจและติดตามผลของการทำงาน

หลักการทำงาน
(1)มอบความรับผิดชอบให้แก่ผู้ทำงานพร้อมกับอำนาจอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฎิบัติหน้าที่จนบังเกิดผลได้อย่างสมบรูณ์
(2)ติดตามสนับสนุนและพร้อมที่จะช่วยแก้ปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ได้รับมอบหมายโดยตลอด เพื่อให้งานบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
(3)ให้กำลังใจแก่ผู้ที่ตั้งใจทำงาน ให้รางวัลแก่ผู้ที่มีผลงานดีเด่นและต้องยกย่องให้มีเกียรติปรากฎด้วย
(4)การทำงานทุกชนิดจะต้องมีเป้าหมาย มีแผนงาน มีโครงการและมีวิธีการปฏิบัติงานไว้ก่อนเสมอ รวมทั้งกำหนดระยะเวลาว่าช่วงไหนควรจะทำอะไรก่อนหลัง

หลักการดำเนินชีวิต
(1)รู้จักปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสถานที่ที่ตนอยู่
(2)รู้จักฉวยโอกาสในสภาพการณ์ทุกสภาพได้ตลอดเวลา


ยังมีเรื่องคุณสมบัติเฉพาะตัว ปรัชญาและแนวคิดในการจัดการธุรกิจ และหลักหมายของวิสาหกิจ และการบริหารทรัพยากรกำลังคนในสถาบันการเงินในอนาคต
และเมื่อผมทำต้นฉบับหนังสือเสร็จเรียบร้อย ได้ขออนุญาตจัดพิมพ์ ท่านได้เมตตาตอบอนุญาตกลับมา ว่าได้พิจารณาแล้ว ให้พิมพ์ได้ตามความประสงค์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 29

ผมขอบูชาครูด้วยอีกคนและ ขอให้คุณงามความดีที่ท่านได้สร้างสรรค์สังคมและประเทศชาติ จงดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของไปสถิตอยู่ในสัมปรายภพตราบชั่วกัลปาวสาน

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ
บจก ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์

***********************************
บทสัมภาษณ์สุดท้ายซาร์เศรษฐกิจ "บุญชู โรจนเสถียร" ประชานิยมขนานแท้ !

สัมภาษณ์สุดท้าย"บุญชู โรจนเสถียร" ต้นตำรับนโยบายประชานิยมขนาดแท้ และดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเงินผัน หรือ เงินผลาญ คนจนรักษาพยาบาลฟรี คนจนขึ้นรถฟรี ไทยแลนด์ อิงก์

ในวันที่ 10 สิงหาคม เวลา 17.00 น. นี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายบุญชู โรจนเสถียร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส โดยในวันที่ 8-9 สิงหาคม จะมีการตั้งสวดศพพระอภิธรรม ณ ศาลากลางน้ำ ในเวลา 19.00 น.
ช่วงบั้นปลายของชีวิต สมัยรัฐบาลชวน 2 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2543 นายบุญชู ได้ประกาศวางมือทางการเมือง หลังจากเป็น ส.ส. ถึง 8 สมัย แล้วหันไปทำกิจการสปา เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ชื่อ "ชีวาศรม รีสอร์ท แอนด์ เฮลท์สปา" ที่เขาตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งถือเป็นรีสอร์ทสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทย จนมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และเป็นสปาที่ดีที่สุดติดอันดับโลก ก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยโรคโรคมะเร็งในเม็ดเลือด เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2550 ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ขณะมีอายุได้ 86 ปี
30 ปีที่แล้ว หากกวาดสายตาไปทั่วแผ่นดิน มองหามือเศรษฐกิจระดับเซียนเหยียบเมฆ ไม่มีใครโดดเด่นเกินกว่า บุญชู โรจนเสถียร
บุญชู คือคนที่ ชิน โสภณพนิช ขอร้องให้มาร่วมบริหารธนาคารกรุงเทพ จนแบงก์บัวหลวงกลายเป็นแบงก์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในวันนั้น แบงก์ของสิงคโปร์ ยังวิ่งตามแบงก์กรุงเทพไม่ทัน
บุญชู เป็นนักธุรกิจคนแรกที่กระโดดลงสู่สนามการเมือง ในวันนั้น ทั้งสภามีแต่ขุนนาง ข้าราชการ และทนายความ
ปี 2517 บุญชู ตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยมอบให้ พร สิทธิอำนวย อดีตบัณฑิตเกียรตินิยมทางเศรษฐศาสตร์ จากสำนักลอนดอน สกูล ออฟ อีโคโนมิคส์ ร่างพรรคการเมืองในอุดมคติ
แล้วเชิญ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ได้รับการปฎิเสธ จึงไปเชิญ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มาเป็นหัวหน้าพรรค
พรรคกิจสังคมของบุญชู คือ ต้นตำรับนโยบายประชานิยม ขนาดแท้ และดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเงินผัน หรือ เงินผลาญ คนจนรักษาพยาบาลฟรี คนจนขึ้นรถฟรี
บุญชู ทำมาหมดแล้ว ...
บุญชู คิดแม้กระทั่ง การตั้ง "ไทยแลนด์ อิงก์" ผนึกรัฐ-เอกชน กระโดดเข้าสู่โลกทุนนิยม อันเป็นแนวคิดที่ทันสมัยที่สุด
เอาเข้าจริง สิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คิดใหม่ ทำใหม่ เมื่อปี 2541 ยังล้าหลังกว่า แนวคิดซาร์เศรษฐกิจที่ชื่อ "บุญชู โรจนเสถียร"เสียอีก
และนี่คือบทสัมภาษณ์สุดท้ายที่นายบุญชูให้สัมภาษณ์"ประชาชาติธุรกิจ"ก่อนจะเสียชีวิตลงไม่นาน บนอาคาร โมเดิร์น ทาวน์ เอกมัย ซอย 3
--------------------
@ในช่วงที่เข้ามาทำงานการเมืองฝันเกี่ยวกับการเมืองอย่างไร แล้วทำอะไรไปได้บ้าง
ประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองระหว่างนี้เราห่างออกมาเยอะ เพราะว่าเราพยายามทำตัวให้พ้นจากพันธะทางการเมือง แต่การที่เราพยายามห่างออกมา มันห่างมาด้วยตัว แต่ใจไม่ได้ห่าง ใจยังติดตามอยู่ เพราะว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนที่เคยทำงานมาก่อน เรารู้เรื่องราวความเป็นมาของปัญหาแต่ละเรื่อง เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกันมา ซึ่งเราก็จำเป็นที่จะต้องพยายามที่จะติดตามรับรู้เรื่องราวต่างๆ
@มองภาพ 30 ปี เศรษฐกิจ การเมืองไทย พัฒนาไปอย่างไรบ้าง นับจากปี 2519 จนถึงปัจจุบัน
เปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง แต่บางเรื่องก็เหมือนเดิม เช่น ลักษณะของความเป็นผู้แทนราษฎรยังจะต้องมีพฤติกรรมในการปฏิบัติกับประชาชนเหมือนเดิม หรือมีเงินที่จะต้องใช้จ่ายในการที่จะรณรงค์หาเสียง
@ 2 เรื่องนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง !
การเลือกผู้แทนราษฎรของเราไม่ได้เลือกโดยอาศัยความรู้ ความสามารถ หรือว่าแนวความคิดของคนคนนั้น เลือกเพราะว่าชอบพอกัน พึ่งพาอาศัยกัน ถึงเวลามีปัญหาก็ช่วยเหลือกัน ผูกพันกันอย่างนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า แต่ในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของบ้านเมืองว่าควรจะแก้อะไร อย่างไร ก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้ลึกซึ้งอะไร ข้อสำคัญคือจะต้องผูกจิตผูกใจชาวบ้านให้ได้
@ เรียกว่าเราอยู่ในระบบอุปถัมภ์ได้ไหม
เป็นระบบอุปถัมภ์ ก็เลยอุปถัมภ์ไปถึงตัวผู้แทนด้วย มีคนมาอุปถัมภ์ผู้แทนอีกทีหนึ่ง แต่ในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย ความคิดความอ่านเกี่ยวกับการกระจายอำนาจให้กับประชาชน พยายามที่จะให้การปกครองลงไปถึงระดับล่าง ลงไปถึงหมู่บ้านถึงตำบลนั้นพัฒนาไปเยอะพอสมควรแล้ว จำได้ว่าเริ่มต้นจากนโยบายเงินผันที่ผมทำไว้ก่อน
สมัยที่ผมกระโดดเข้ามาสู่การเมืองนั้น ประชาชนไม่รู้หรอกว่าตัวเองมีอำนาจ นึกแต่เพียงว่าแล้วแต่เจ้านายเขาจะเมตตา ไม่ได้เป็นสิทธิของเขา เราก็พยายามจะให้เขารู้สึกว่า ความจริงเขามีวิธีการที่เราให้เขาเริ่มมีความรู้สึกก็คือส่งเงินผันลงไปให้เขาจัดการของเขาเอง จะทำถนน ทำสะพาน จัดการทำเองได้ ไม่ต้องไปขอร้อง ไม่ต้องไปอ้อนวอนใคร
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ประชาชนเริ่มสัมผัสกับความเป็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตย คือด้วยความรู้สึกว่าเขามีสิทธิที่จะเรียกร้องที่จะทำอะไรได้
@ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักธุรกิจจะเข้ามาสู่ในวงการเมืองมากขึ้น
นักธุรกิจเห็นแล้วว่าระบบอุปถัมภ์นั้นเปิดช่องทาง เขาก็ลงทุนเข้ามา ปกติเขาเพียงแต่ว่าคอยตักตวงผลประโยชน์โดยสร้างความใกล้ชิด สนิทสนมกับนักการเมือง แต่ตอนนี้ลงมาเสียเองดีกว่า อาจจะใช้เงินน้อยกว่าที่จะไปอยู่ข้างหลัง
เคยย้อนดูสถิตินักการเมือง เดิมเป็นครู เป็นข้าราชการ เป็นทนายความ แต่ช่วง 20 ปีหลังมานี่จะเป็นสัดส่วนของนักธุรกิจเข้ามาทำงานการเมืองเยอะขึ้น
ผมเป็นคนนำ ตอนนั้นไม่มีใครกล้ามา เขาก็บอกว่า หาเหาใส่หัว กระโดดเข้ามาทำไม ผมเป็นนายแบงก์ ใครๆ ก็นึกว่าสบายแล้ว ทำไมกระโดดเข้ามาหาทุกข์ใส่ตัว
@การที่นักธุรกิจเข้ามาเล่นการเมืองเยอะขึ้น ดีหรือไม่ดีต่อระบบการเมืองไทย
มีทั้งดีและไม่ดี หากนักธุรกิจกลุ่มนั้นมีศีลธรรม มีจรรยา มีหิริโอตตัปปะดี พยายามใช้ความรู้ของตัวมาใช้แก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของบ้านเมือง พวกนี้เขามีความรู้ ความเข้าใจดีกว่า ถ้าจะพูดจริงๆ ดีกว่านักวิชาการด้วยซ้ำ เพราะนักวิชาการจะติดอยู่กับตำรา ไม่ได้สัมผัสกับปัญหาหรือเรื่องราวต่างๆ ในทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจโดยตรง
นักธุรกิจเขาต่อสู้ เขาแข่งขันกันขึ้นมา มีความสามารถที่จะนำตัวขึ้นมาเหนือคนอื่นเขาก็ด้วยระบบการแข่งขันในระบบทุนนิยม เมื่อเขาสร้างตัวขึ้นมาอย่างนั้น เขาย่อมมีความรู้ดี แต่มาเสียตอนที่ว่าโลภมาก เห็นช่องทางดี แล้วหาประโยชน์เป็นส่วนตัวไป นั่นคือข้อเสียที่เห็นกันในตอนนี้
@ประชาชนจะเข้ามาช่วยคอนโทรลให้เขาทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง
ก็ที่กำลังทำอยู่ขณะนี้ สิ่งที่กำลังก่อผลการเปลี่ยนแปลงอีกระดับหรืออีกช่วงหนึ่ง เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ มิติใหม่จะเป็นลักษณะที่ว่าเราจะมีธรรมาภิบาลได้หรือยัง
@สมัยที่เสนอเรื่องไทยแลนด์อิงก์ก็คิดอยู่แล้วว่าสังคมไทย เศรษฐกิจไทยจะต้องเข้ามาสู่ระบบทุนนิยม
มันถูกครอบงำโดยระบบทุนนิยม แม้กระทั่งสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ก็ต้องหันมายอมรับ จะพูดว่าพังทลายก็ได้ แต่มันเป็นเรื่องของการปรับตัวของสังคมนิยม เช่น ประเทศจีนเขาปรับตัวของเขา เขายังเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ แต่ว่าระบบงานบริหารทางด้านเศรษฐกิจก็เอาส่วนดีของทุนนิยมมาใช้
@ถ้ามองย้อนกลับไป ไทยแลนด์อิงก์ในวันนี้ล้าสมัยไปหรือยัง
ไม่ล้าสมัย ในเมื่อเราจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นเขาแล้ว เราจะต้องผนึกกำลังภายในของเราให้แน่น ถึงจะไปสู้กับเขาได้ นั่นหมายความว่าจะต้องผนึกระหว่างเอกชนกับรัฐ วางแผนที่จะปฏิบัติร่วมกันที่เรียกว่า ไทยแลนด์อิงก์ ตอนนั้นเขาถือว่าเป็นการรวมตัวกัน ตอนนั้นเขาก็หาว่าผมกำลังดึงทุนข้ามชาติมาครอบงำเศรษฐกิจไทย
@ว่ากันจริงๆ แล้วตอนนี้เราจำเป็นต้องใช้ทุนข้ามชาติมาพัฒนาประเทศเราเหมือนกัน
เราอยู่ในระบอบทุนนิยม อยู่ที่ว่าเราจะใช้ระบบนั้นให้เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ หรือไปกระจุกผลได้อยู่ในกลุ่มของนายทุน เพราะฉะนั้นประเด็นใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจของเราก็ยังอยู่ที่ว่าการกระจายรายได้ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ที่บอกว่า จีดีพีขึ้นมา 10% 8% 9% ถามว่ามันไปอยู่ที่ใครหมด
@สมัยที่ท่านกุมบังเหียนเศรษฐกิจ ท่านมีวิสัยทัศน์ มองเห็นไหมว่าประเทศไทยควรขยับเขยื้อนไปทางไหน ทางอุตสาหกรรม ทางเกษตร หรือว่าทางไหน
ประเทศไทยอยู่ได้ด้วยเกษตร หนทางที่เราจะไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง จะต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการเกษตร เราจะต้องปลูกพืชผลที่มีโอกาสจะปลูกได้มาก แล้วสามารถแปรสภาพเป็นสินค้าสำเร็จรูปเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น และเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรสภาพสินค้าเกษตรเป็นส่วนใหญ่
นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราหลงไปทางด้านอุตสาหกรรม ทางด้านอื่นๆ ที่จะต้องใช้ทรัพยากร หรือสินค้าจากข้างนอก เราจะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมาย จะยิ่งแย่ใหญ่
@สภาพตอนนี้รัฐบาลเองให้การส่งเสริมตรงนี้พอหรือยัง เพราะเวลามีเอฟทีเอทีไร เกษตรมักจะได้รับผลกระทบทุกครั้ง
หมายความว่าการพัฒนาการเกษตรของเรามันลุ่มๆ ดอนๆ ไม่อยู่กับที่แล้วไม่ต่อเนื่อง สาเหตุนี้ก็เลยทำให้เรากลายเป็นประเทศที่ยังยากจนอยู่ ทั้งๆ ที่เรามีโอกาสจะร่ำรวยอย่างเดียวกับเนเธอร์แลนด์ก็ดี อยากจะร่ำรวยอย่างออสเตรเลียก็ดี มาจากเกษตรทั้งนั้น
@นั่นเป็นเพราะเราไม่รู้ศักยภาพที่แท้จริงของเราว่ามีศักยภาพตรงไหนสูงสุด ก็เลยเดินหลงทางในการพัฒนา
จะบอกว่าไม่รู้ก็คงไม่ใช่ แต่ไปหลงอย่างอื่น อย่างที่คุณทักษิณต้องการจะขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศนี้ แล้วลืมเกษตรเสียก็เลยแก้ปัญหาไม่ได้
@มองทิศทางประเทศไทยจากวันนี้อย่างไร
ทำให้การเมืองสุจริต ยุติธรรมเสียก่อน การดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ ความจริงมันดำเนินโดยภาคเอกชนโดยอัตโนมัติของมันอยู่แล้ว ฝ่ายรัฐจะต้องสร้างโอกาส สร้างภาวการณ์ที่จะส่งเสริมให้งานของภาคเอกชนเดินหน้าได้ เมื่อใดที่จะมีการลงทุน ทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ควรจะมาพูดมาจา ตกลงร่วมกันเพื่อที่จะร่วมมือกัน
หันไปไทยแลนด์อิงก์ เพราะนั่นคือทางออกที่ดีที่สุดของเรา เพราะบ้านเมืองของเรามีภาวะที่อำนวยให้เราหาประโยชน์จากพื้นดินของเรา ดินฟ้าอากาศของเราก็อำนวยให้เราไม่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติมากเหมือนประเทศอื่นเขา ถ้าหากว่าเราเริ่มต้นทำให้พื้นดินของเราเป็นประโยชน์ด้านการผลิต ด้านการเกษตรมากขึ้น เราก็จะรวยได้แน่นอน
ตอนนั้นเราก็แข่งกับสิงคโปร์ สิงคโปร์ก็แซงหน้าเราไป พอเราแข่งกับมาเลเซีย มาเลเซียก็แซงหน้าเราไป ต่อมาเราแข่งกับเวียดนาม ก็ดูเหมือนว่าเขากำลังจะแซงหน้าเราไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น
เกิดเพราะความเขลาของเรา เราหลงผิด สาวสวยอยู่ข้างๆ แต่ยังจะไปเชยชมสาวอีกด้านหนึ่ง
@เป็นเพราะว่าผู้นำทางการเมืองของเราไม่มีความสามารถเท่ากับเพื่อนบ้าน
ไม่จริง คุณทักษิณไม่ใช่ว่าไม่เก่ง แต่ความเก่งของเขาใช้ประโยชน์ไปในทางส่วนตัวมากกว่า
@ถ้ารัฐบาลต้องขับเคลื่อนโดยคุณทักษิณ จะต้องหันทิศทางอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากที่สุด เพราะที่ผ่านมามีบททดสอบบางอย่าง
ให้เขาเริ่มฉลาดขึ้น ไปหันเหเขาไม่ได้หรอก เขาต้องรู้ด้วยตัวเขา ถ้าเขาเป็นรถยนต์ เราจะไปสั่งให้เขาขวาหัน ซ้ายหันไม่ได้
@ตอนที่ท่านกุมบังเหียนเศรษฐกิจ ท่านมองสิงคโปร์เป็นคู่แข่งที่เราต้องสู้ไหม
อยากให้ย้อนกลับไปดูตอนที่ผมเป็นนายแบงก์ ผมเอาพวกนี้อยู่มือหมดทั้งนั้น สิ่งที่เราจะต้องยอมรับว่า เรามีทรัพยากรเยอะ สิงคโปร์มีอะไร แต่เขามีคน เขาสร้างคนขึ้นมาเป็นทรัพย์ที่เขาจะได้หาประโยชน์ แล้วดึงทุนไปไว้ที่เขาหมด ทุนของเราตอนนั้น เวลาที่ผมดึงแบงก์กรุงเทพขึ้นมาใหญ่กว่าแบงก์สิงคโปร์ เสียอีก ผมยังรู้จักกันดี กับ นายกฯ มหาธีร์ (มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) เป็นเพื่อนของผมตั้งแต่สมัยนั้น
@ทำไมในช่วงนั้นไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น ในการพลิกโฉมประเทศไทย เพราะถือได้ว่าเป็นคนมีความฉลาดล้ำยุค
เราเป็นนายแบงก์แต่เราไม่มีโอกาสที่จะเป็นคนกำหนดนโยบาย เราก็แสดงความคิดเห็นในรายงานประจำปีของเรามาเรื่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าแนวนโยบายของรัฐที่จะส่งเสริมให้เอกชนก้าวหน้า เดินเอาชนะคนอื่นเขาได้เรื่อยไป เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แนวความคิดเกี่ยวกับนโยบายก็ขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ในอำนาจบริหารของแผ่นดิน นั่นคือรัฐบาล รัฐเมื่อมีปัญหา ช่วยส่งเสริม ช่วยทำให้โอกาสดีกับเอกชนที่จะก้าวหน้าก็ไปได้ ตอนนั้นเราเป็นนายแบงก์ เราก็ได้แต่แสดงความคิดเห็น แต่ว่าในระหว่างที่เราคอยทำหน้าที่รวบรวมทุนมาใช้ประโยชน์กระจายไปให้ประชาชน ผมเป็นธนาคารแรกที่กระจายทุนให้กับเกษตร เป็นตัวอย่าง ธ.ก.ส.เอารูปแบบของผมไปทำ
สิ่งที่เราทำให้กับประเทศในระหว่างที่เป็นนายแบงก์คือพยายามที่จะรวบรวมทุนแล้วกระจายไปสู่ประชาชนในทางกว้าง ไม่ไปอยู่กับทุนใหญ่ๆ ทุนใหญ่ๆ ก็ไปเหมือนกันแต่ก็บังคับให้ไปอีกทางหนึ่งด้วย
@เมื่อท่านเขามาสู่การเมืองก็ยังไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่สิ่งที่จินตนาการไว้ได้
เริ่มต้นคุณคงจำได้ ได้ 18 เสียง ยังทำอะไรไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ได้เป็น รมว.คลังคนแรก ที่เป็นเอกชนหรือประชาชน นอกนั้นเป็นเจ้านายทั้งนั้น ตอนนั้นเราสร้างระบบที่เรียกว่าการคลังเพื่อประชาชน ไม่ใช่การคลังเพื่อคลัง คลังต้องรวย นั่นคือลักษณะของแนวความคิดและนโยบายของรัฐ คือตัวคลังจะต้องมีเงินมาก เก็บไว้มากมาย แต่เราต้องการเอาส่วนที่เก็บไว้มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ เรียกว่าคลังเพื่อประชาชน
@ยุคของท่านธนาคารกรุงเทพใหญ่โตมาก แต่วันนี้สิงคโปร์เข้ามาเป็นเจ้าของแบงก์ในไทยเกือบหมดแล้ว
เดี๋ยวนี้เขาอ้าขา ผวาปีกหมด
@พูดได้หรือไม่ว่าเงินผันคือต้นแบบของเงินเอสเอ็มแอลและกองทุนหมู่บ้าน
ก็ทำนองนั้น จุดเริ่มต้นอยู่ที่เงินผันแล้วก็พัฒนาแล้วแต่ว่าใครจะไปบอกกับชาวบ้าน หรือไปหาเสียงกับชาวบ้านแบบไหน เรียกชื่อต่างๆ กันไป ประเด็นอยู่ที่ว่าสิ่งที่กำลังพัฒนาโดยการกระจายอำนาจลงไป ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางภาวะการทำกินของประชาชน มีการขยายตัวทางการผลิต ทำให้งบประมาณแผ่นดินขยายตัวมากขึ้น ในระหว่างการพัฒนาเหล่านี้มีนักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายเข้ามาเกี่ยวพันกับการวางนโยบาย ซึ่งนโยบายอีกด้านหนึ่งคือการให้มีการจ้างงานมากขึ้น มีแรงงานมากขึ้น โดยส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมการผลิต มีการขยายตัวของการก่อสร้าง สาธารณูปโภค กระจายลงไปก็สร้างงานให้คนมากขึ้น
@ประชานิยมในยุคนี้กับในยุคเงินผันต่างกันอย่างไร พัฒนาได้ถึงราก ทำให้คนชั้นล่างยกระดับขึ้นมาหรือยัง
ถ้าไปได้รอดก็ได้ผล แต่นี่ไปสะดุด ครึ่งๆ กลางๆ เช่น พยายามเอาทุนให้เขาไปลงมือทำกิน แต่อุปสรรคในการทำกินไม่ได้แก้ให้เขา เงินที่ได้มาเพื่อที่จะไปลงทุนทำกิน ก็ได้ผลตอบแทนไม่พอ ก็เลยเหลือแต่หนี้สิน เป็นลักษณะของการทำไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นต้นว่า ตอนหลังให้เขาไปจดทะเบียนว่าเป็นหนี้นอกระบบคนละเท่าไหร่ นั่นแสดงความไม่รู้มาตั้งแต่ต้นว่าหนี้นอกระบบมีมากน้อยแค่ไหน ประชานิยมไม่มีใครที่ไม่ชอบ แต่ว่าประชานิยมอันนั้นช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์ หรือได้รับผลที่เราประสงค์ได้ครบถ้วนหรือเปล่า
@มีความเข้าใจผิดเหมือนกันว่าเป็นการให้ฟรี
สมัยผมก็ให้ฟรี ให้นั่งรถไฟฟรีด้วย เรียนฟรี สมัยผมรักษาฟรีด้วยซ้ำไป ไม่ได้เอา 30 บาท แต่ให้เฉพาะคนจน แต่ยุคนี้กวาดไปหมด
@ถ้าจะพัฒนาประชานิยมให้เต็มรูปแบบ
ประชานิยมได้ผลแน่นอน เพราะว่าครั้งแรกที่ผมไปเป็นผู้แทน พรรคกิจสังคมได้มา 18 เสียง พอครั้งที่ 2 ได้เพิ่ม 48 เสียงเลย นั่นคือประชานิยม ที่ต้องการคือสิ่งที่เราทำนั้นปรากฏเห็นชัดแจ้ง เสียดายที่อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านสอบตกเสียก่อน ทำให้ทำงานได้ไม่ต่อเนื่อง
@มองเรื่องทุนเก่า-ทุนใหม่ปะทะกันอย่างไร
ทุนใหม่ที่มาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจแทนขึ้นมา มันไปเสียตรงที่ไม่ได้กระจาย แต่ไปกระจุกอยู่ที่ผู้ที่รวยก็รวยมากมายขึ้นไป ความร่ำรวยอันนี้เป็นผลทำให้คนกลุ่มนี้มีอำนาจ ทุนใหม่ที่เกิดขึ้นในระยะหลังถูกใช้ไปในทางที่ไม่ชอบ เขาบอกว่าเขาลงทุนเข้าสู่การเมือง
@มีคนเปรียบเทียบว่าเศรษฐีทุนเก่าดูจะมีวัฒนธรรมมากกว่าทุนใหม่
ไม่เชิง หมายความว่าทุนเก่าที่มีอยู่นั้น ไม่ใช่เป็นทุนของคนที่อยู่ในวงธุรกิจ ส่วนใหญ่ทุนเก่าเป็นข้าราชการเป็นผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ย่อมจะมีความคิดความอ่านที่แตกต่างจากทุนใหม่
@อยากจะฝากอะไรกับนักการเมืองรุ่นใหม่
อย่าไปฝากเลย เดี๋ยวเขาหาว่าทะลึ่ง นักการเมืองทุกคนเขาถือตัว ฉันไม่ใช่คนย่อยๆ ต้องเข้าใจ ทุกคนมีความภูมิใจ มีอีโก้ของตัวเอง ตรงนี้เป็นปัญหา ทำให้ลืมตัวได้ง่ายๆ

เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ผ่านไปอย่างรวดเร็ว 15.30 น. บุญชู ขอเวลาไปทำงานต่อ นักข่าวกราบลาท่านผู้อาวุโสวัย 86 ปี ก่อนจากลาท่านบุญชู หันมากระซิบว่า "วันหน้า เจอกันใหม่"


นำมาจาก วันที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 12:58:32 น. จากประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1249650607&grpid=01&catid=00

***************************************************
เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช ปธ.แบงก์กรุงเทพ เขียนถึง"ครู"คนแรกในอาชีพนายธนาคาร

"จะมีใครสักกี่คนที่เมื่อเข้าสู้สังเวียนการเมืองแล้ว ได้รับการสรรเสริญว่าเป็น "ชาร์เศรษฐกิจ" ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักการเมืองมือสะอาด ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง" !!

เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช
ประธานกรรมการ แบงก์กรุงเทพฯ
เขียนถึง ครูคนแรกในอาชีพนายธนาคาร
" คุณบุญชูบอกผมว่าคุณพ่อไม่อยู่ ผมควรจะมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ"

กล่าวกันว่า แบงก์กรุงเทพ ยืนหยัดและแข็งแกร่ง อยู่ได้ทุกวันนี้
เพราะบุคคล อย่างน้อย 2 คน
คนแรกคือ นายบุญชู โรจนเสถียร
คนที่สอง คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
นักเศรษฐศาสตร์การเมือง เชื่อว่า ถ้าไม่มีคนชื่อ บุญชู อาจไม่มีแบงก์กรุงเทพ ในวันนี้ !
วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 เจ้าสัว ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) นั่งลง จรดปากกาเขียนเรียงความเรื่อง " ครูคนแรกในอาชีพนักการธนาคารของผม"
เรียงความชิ้นนี้ ไม่ได้ส่งประกวดที่ไหน แต่เป็นเรียงความที่ตีพิมพ์ในหนังสืองานศพของครูผู้ยิ่งใหญ่
เป็นครั้งแรก ที่ เจ้าสัวชาตรี เล่าเรื่องแบงก์กรุงเทพ ในยุคจอมพลผ้าขาวม้าแดง ยุคที่นายห้างชิน ต้องสัญจรไปอยู่ฮ่องกง เพราะพิษการเมือง
เจ้าสัวชาตรี เล่าว่า คุณบุญชู โรจนเสถียร คือผู้ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อธนาคารกรุงเทพ เพราะท่านเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในการเข้ามาปฏิรูปธนาคาร ด้วยการริเริ่ม บุกเบิก สร้างสรรค์ พัฒนา และบริหารจัดการ ทำให้ธนาคารกรุงเทพมีความเจริญก้าวหน้า
ตลอดระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปี ท่านได้ทุ่มเทสติปัญญา ความรู้ความสามารถในฐานะนักบัญชีมืออาชีพ นำวิธีการวางแผนธุรกิจอย่างมีระบบ การวางระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพการขยายตัวด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างรวดเร็ว และการริเริ่มเสนอบริการใหม่ๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้าทันสมัยเข้ามาเสริมส่งให้ธนาคารกรุงเทพ มีความโดดเด่นในด้านการให้บริการทั้งสินเชื่อและเงินฝากประเภทต่างๆ
รวมทั้งการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการกีฬาธนาคารจึงก้าวขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจการเงินการธนาคารได้อย่างเต็มภาคภูมิ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของธนาคารที่ท่านได้รับมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งนี้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2520 นั้น เพียงแต่ระยะเวลาไม่กี่ปีของการบริหารงาน
คุณบุญชูก็สามารถทำให้ธนาคารกรุงเทพเป็นธุรกิจเอกชนของคนไทยที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในขณะนั้น และเป็นธนาคารที่สามารถอำนวยบริการด้านการเงินที่สมบูรณ์พร้อมสรรพ อีกทั้งยังมีบทบาทเป็นปากเสียงสำคัญของภาคเอกชนจนคนทั่วไปยอมรับในศักยภาพนี้
เหนืออื่นใด ด้วยวิสัยทัศน์ของคุณบุญชูที่ต้องการแสดงให้คนไทยเห็นว่าธนาคารกรุงเทพมีความเชื่อมั่นในเสถียภาพและอนาคตของประเทศไทย จังได้ตัดสินใจก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนสีลม นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของธนาคาร เนื่องจากอาคารหลังนี้มีความสูง 32 ชั้น สูงที่สุดเท่าที่มีการก่อสร้างมาในประเทศไทย ณ ขณะนั้น
อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่นี้ไม่เพียงเป็นประจักษ์พยานแห่งความสำเร็จในการประกอบธุรกิจของธนาคารกรุงเทพ สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในขณะนั้น หากยังเปรียบเสมือนอนุสรณ์แห่งวิสัยทัศน์ และการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญของคุณบุญชูด้วย
คุณบุญชูเป็นคนที่ทำอะไรทำจริง และต้องทำให้ดีที่สุด เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดังและประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ความสามารถบริหารกิจการธนาคาร เป็นผู้นำทั้งด้านความคิดและการปฏิบัติขององค์กรธุรกิจ ที่ส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพเติบโตก้าวหน้าเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของประเทศ รวมทั้งทัศนะที่เผยแพร่และแสดงออกต่อสาธารณชนในทุกโอกาส ในฐานะนายธนาคารที่ซื่อตรงต่อวิชาชีพ มุ่งหมายใช้วิชาความรู้เข้าแก้ไขปัญหาบ้านเมือง แก้ไขสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นตามอัตภาพ คุณบุญชูจึงโดดเด่นเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งในภาคเอกชนและรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งสำหรับคุณบุญชูแล้ว นี่คืองานที่ท้าทายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง
วันที่ 12 มีนาคม 2523 คุณบุญชูได้ขอลาออกจากตำแหน่งสูงสุดของการเป็น "นายธนาคารมืออาชีพ" ไปสู่เส้นทางสายใหม่ในฐานะ "นักการเมืองมืออาชีพ" ด้วยความตั้งใจที่จะทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง แต่ก็ยังคงมีความรักผูกพันและหวังดีกับธนาคารกรุงเทพเสมอมา เมื่อได้รับเชิญให้มากล่าวคำปราศรัยในโอกาสฉลองพิธีเปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนถนนสีลมในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2525 คุณบุญชูจึงเลือกที่จะปราศรัยในหัวข้อ "อนาคตของธนาคารกรุงเทพฯ" ซึ่งกลายเป็นคำปราศรัยประวัติศาสตร์ที่สร้างความประทับใจให้กับชาวบัวหลวงทุกคน
ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างคุณบุญชูกับผมนั้น ก็เป็นเรื่องที่ประทับอยู่ในความทรงจำเสมอ เพราะท่านเป็นผู้ที่ชักชวนผมให้มาทำงานที่ธนาคาร เนื่องจากปลายปี 2501 หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติสำเร็จ และนายห้างชินคุณพ่อของผมตัดสินใจไปอยู่ฮ่องกงเพื่อให้ห่างไกลจากสถานการณ์บ้านเมือง
ขณะนั้นผมทำงานอยู่ที่บริษัทเอเชียทรัสต์ คุณบุญชูบอกผมว่าคุณพ่อไม่อยู่ ผมควรจะมาทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ ท่านเห็นว่าผมมีความรู้ด้านการบัญชี จึงมาเริ่มต้นทำงานที่ฝ่ายการบัญชี ซึ่งเป็นหัวใจของงานธนาคาร ผมจึงมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านอยู่หลายปี เรียกว่าท่านเป็นครูสอนความรู้ให้ผมทุกอย่าง
"ผมเรียนวิชาทำงานแบงก์จากท่าน ซึ่งเป็นคนเจ้าระเบียบมีแบบแผน ทำงานอย่างมีระบบ ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารงานภายในอย่างลึกซึ้ง ซึ่งความรู้เหล่านี้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับผมในเวลาต่อมา"
ผมภูมิใจมากที่ครูคนแรกในอาชีพนักการธนาคารของผมเป็นคนดีที่ทุกคนเชิดชูยกย่อง เพราะจะมีใครสักกี่คนที่เมื่อเข้าสู้สังเวียนการเมืองแล้ว ได้รับการสรรเสริญว่าเป็น "ชาร์เศรษฐกิจ" ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นนักการเมืองมือสะอาด ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง และเมื่อถึงคราววางมือทางการเมือง ท่านก็ละวางอย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรีใช้ชีวิตอย่างสงบ หันมาทำ "ชีวาศรม" ที่หัวหิน และด้วยความสามารถอันยอดเยี่ยมของท่านชีวาศรมจึงมีชื่อเสียงในฐานะรีสอร์ทและสปาของประเทศไทยที่ดีที่สุดของโลก
ระยะหลังๆ แม้คุณบุญชูมีสุขภาพไม่แข็งแรง ท่านก็ยังคงระลึกถึงติดตามข่าวสารและให้ความเมตตาผมเสมอ เมื่อราวเดือนสิงหาคม 2549 ท่านทราบข่าวว่าผมได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอบปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ท่านก็ยังกรุณาส่งจดหมายมาแสดงความยินดีกับลูกศิษย์ของท่าน ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่เดือน ท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม ข้อความตอนหนึ่งในจดหมายที่ผมขอนำมาเปิดเผยด้วยความซาบซึ้งใจก็คือ
"...การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มอบปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่คุณชาตรี นอกจากเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจสำหรับคุณแล้ว ผมในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก้พลอยยินดีกับคุณด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งมากกว่า 70 ปี มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ การมอบปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตซึ่งเป็นระดับปริญญาเอก มิใช่เป็นเรื่องบุญวาสนาหรือโชคของผู้รับ หากหมายถึงผู้รับมีความรู้ความสามารถและมีความสำคัญเป็นที่ยกย่องในสังคมอย่างสูงด้วย ส่วนผมนอกจากเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์แล้ว ยังถือได้ว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขคนหนึ่งของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นธนาคารติดอันดับในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์และเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยด้วย..."
คุณบุญชูไม่เพียงเป็น "ครู" ของผมเท่านั้น แต่ท่านยังมีความตั้งใจที่จะเป็น "อาจารย์ใหญ่" จึงได้มอบร่างกายให้แก่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางการแพทย์ ซึ่งความตั้งใจนี้ได้บรรลุผลแล้วอย่างสมบูรณ์
คุณบุญชูจึงเป็นบุคคลผู้ยังประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งยามมีชีวิตและยามจากไป ด้วยอานิสงส์อันยิ่งใหญ่นี้ ย่อมน้อมนำให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของคุณบุญชู โรจนเสถียรสถิตในสัมปรายภพตราบนิรันดร์

นำมาจาก วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 15:56:48 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1249981299&grpid=07&catid=00&sectionid=0225

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com