Saturday, September 13, 2008

กลยุทธสู่การปฏิบัติการชั้นเลิศ : The Execution Premium

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้เคยเล่าให้ฟังไว้แล้วว่า ในปี 2008 Kaplan และ Norton ได้พัฒนา Strategy Maps และ Balanced Scorecard เข้ามาสู่ระบบการจัดการกลยุทธ (Strategic Management System) สำหรับบูรณาการการวางแผนกลยุทธและการปฏิบัติการด้านการดำเนินงาน
ด้วยเหตุผลหลักๆ อยู่ 2 ประการเป็นอย่างน้อยคือ
1) การจัดการกลยุทธต้องเข้าใจว่าเป็นระบบการจัดการที่ครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนากลยุทธไปจนถึง การกำกับและติดตาม ซึ่ง Kaplan และ Norton เรียกว่า “Closed-Loop Management System”
2) การจัดทำหรือการกำหนดกลยุทธ (Strategy Formulation) ที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดขึ้นได้จากการเลือกเครื่องมือทางกลยุทธอย่างเหมาะสมหรือ “Strategy Formulation Tools”
นั่นคือที่มาของ “กลยุทธสู่การปฏิบัติชั้นเลิศ” หรือ “The Execution Premium”

The Execution Premium ทำให้สำเร็จได้อย่างไร

Kaplan และ Norton (2008) อธิบายไว้ว่า ระบบการจัดการอย่างครบวงจรนี้เป็นการบูรณาการเครื่องมือทางกลยุทธที่ช่วยให้บริษัทได้มีกระบวนการปฏิบัติการทางกยุทธ (Strategy Execution Processes) ใน 6 ขั้นตอนซึ่งประกอบด้วย
การพัฒนากลยุทธ (Develop the Strategy)
วางกลยุทธ (Plan The Strategy)
การจัดวางทั้งหน่วยงานและพนักงานเข้ากับกลยุทธ (Align Organizational with the Strategy)
แผนปฏิบัติการ (Plan Operations) ที่มีการกำหนดลำดับความสำคัญในกระบวนการจัดการและการจัดสรรทรัพยากรที่จะเป็นการส่งมอบกลยุทธ
กำกับติดตามและการเรียนรู้ (Monitor and Lean) จากกลยุทธและการปฏิบัติ
ทดสอบและปรับกลยุทธ (Test and Adapt the Strategy)
ผู้เขียนได้นำเสนอและจัดสัมมนาเรื่องนี้ไปแล้วโดยเรียกว่าเป็น Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators อัพเดทเวอร์ชั่น 2008 เพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธแนวใหม่
สำหรับหน้าตาของ การพัฒนากลยุทธ (Develop the Strategy) ในระบบการจัดการอย่างครบวงจรนั้นจะมีรูปแบบดังภาพต่อไปนี้

ภาพที่ 1 การพัฒนากลยุทธ





ในขั้นนี้จะเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาหรือการปรับใหม่ในด้านวิสัยทัศน์ คุณค่าและภารกิจ โดยการวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่หลายๆ ธุรกิจได้ดำเนินการจัดทำอยู่แล้ว Kaplan และ Norton เรียกวิธีการตรงนี้ว่า “การสร้างแผนกลยุทธ” หรือ “Building the Strategic Plan” ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 การวางแผนกลยุทธ


ใน 2 ภาพข้างต้นมีสาระอะไรใหม่ที่น่าสนใจในการพัฒนากลยุทธ ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ Kaplan และ Norton เสนอใน “กลยุทธสู่การปฏิบัติชั้นเลิศ” นี้มี “โมเดลกระบวนการพัฒนากลยุทธ (The Strategy Development Process Model)” ลองพิจารณาเทียบเคียงกับสิ่งที่ธุรกิจหรือบริษัทต่างๆ จัดทำในเรื่องนี้ในใจกับภาพที่ 3 ซึ่งผู้เขียนสรุปออกมาจาก The Execution Premium

ภาพที่ 3 โมเดลกระบวนการพัฒนากลยุทธ



ในกระบวนการพัฒนากลยุทธดังกล่าวได้พูดถึง 3 เรื่องที่ธุรกิจต้องทบทวนและคิดอย่างทะลุแจ้งแทงตลอดว่าเป็นจริงอย่างที่ Kaplan & Norton พูดไว้เช่นนี้หรือไม่ในเรื่อง
1) การทำความชัดเจนในวิสัยทัศน์ คุณค่าและภารกิจ
ในเรื่องนี้ Kaplan & Norton มองว่า ภารกิจ (Mission) ต้องมีความชัดเจนมาก่อน
ดังนั้นจึงบอกว่า การทำความชัดเจนในวิสัยทัศน์ คุณค่าและภารกิจนี้ ต้องเห็นพ้องกันในระดับที่สูงเกี่ยวกับแนวทางของจุดประสงค์องค์กรและการจัดทำ
สิ่งนี้น่าจะถูกต้องเพราะ ภารกิจเป็นการบอกจุดประสงค์ในทิศทางขององค์กร แต่ไม่แน่นักว่าจะต้องมาก่อนวิสัยทัศน์
แต่สิ่งที่เป็นข้อกังขาคือ วิสัยทัศน์ที่ Kaplan & Norton พูดถึงต้องบรรยายในเทอมของการนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ววิสัยทัศน์นั้นเป็นเรื่องของ
- ภาพในอนาคตที่องค์กรอยากเห็นหรืออยากไปให้ถึง
- เป็น “จุด” (อาจใช้คำว่า “ทิศทาง” ได้) ไกลๆ ที่ต้องการทำให้มีความชัดเจน
- อนาคตที่ธุรกิจอยากจะเป็น

โดยทั้งหมดนี้ต้องทำให้มีความชัดเจนในการกำหนดวิสัยทัศน์ คุณค่า ภารกิจ
สิ่งที่เป็นข้อกังขาอย่างที่สอง คือ ในทางทฤษฎีของกลยุทธแล้วมีการอธิบายกันมานานว่า
“วิสัยทัศน์นั้นมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 องค์ประกอบด้วยกันคือ (1) คุณค่า (Value) เป็นสิ่งที่องค์กรยึดถือปฏิบัติหรือสิ่งที่องค์กรเชื่อแล้วถ่ายทอดไปสู่คนแต่ละรุ่น ซึ่งสุดท้ายแล้วสิ่งนี้จะเป็น “วิถีชีวิตขององค์กร” (Corporate Value)” (2) ภารกิจ (Mission) คือ สิ่งที่องค์กรต้องทำทั้งปัจจุบันและในอนาคตเพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นจริง ซึ่งสิ่งที่องค์กรต้องทำ อาทิ ทำในเรื่องของผลิตภัณฑ์และบริการ การสร้างและรักษาลูกค้า การจัดการทรัพยากรทั้งหมด สรุปง่ายๆ ว่า สิ่งที่องค์กรต้องทำนั้นเป็นการบอกให้รู้ถึง “แนวคิดธุรกิจ” หรือ “Business Concept” สุดท้าย (3) เป้าหมาย (Goal) เป็นตัวเลข หรือปริมาณในระยะยาวขององค์กรที่ต้องการทำให้บรรลุผลสำเร็จตามสิ่งที่องค์กรต้องทำทั้งปัจจุบันและอนาคตเพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นจริง

ดังนั้นประเด็นของ “การทำความชัดเจนในวิสัยทัศน์ คุณค่าและภารกิจ” ที่ Kaplan & Norton เสนอมาใน The Execution Premium ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นจะเกิดความไขว้เขวและการกำหนดกลยุทธไม่สามารถนำไปสู่การจัดทำได้เป็นเลิศ หรือปฏิบัติการชั้นเลิศได้อย่างแท้จริง
2) วิเคราะห์การจัดทำกลยุทธและ 3) การกำหนดกลยุทธ
ในเรื่องนี้เป็นสิ่งปกติที่ธุรกิจจะต้องดำเนินการอยู่แล้ว ประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือ
อย่างแรก การวิเคราะห์การจัดทำกลยุทธที่ Kaplan & Norton เสนอ “PESTEL” เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกที่ประกอบด้วย P-การเมือง E-เศรษฐกิจ S-สังคม T-เทคโนโลยี E-สภาพแวดล้อม L-ข้อกฎหมาย ในความเป็นจริงก็แทบจะไม่แตกต่างไปจาก PEST ที่ธุรกิจใช้กันอยู่เพียงแต่จะแตกให้เป็น 6 ตัวหรือ 4 ตัว แล้วรวมที่พูดไว้ข้างต้นเข้ามาให้ครบ
สิ่งที่น่าคิดมากกว่าในเรื่องนี้ซึ่งปัจจุบันการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม จะใช้วิธีใหม่ที่เรียกว่า การวิเคราะห์ทัศนภาพ (Scenario Analysis) ที่เหมาะสมและชัดคมกว่า การทำเพียง PEST หรือ PESTEL คิดไม่ถึงว่า Kaplan & Norton มาไม่ถึงจุดนี้
อย่างที่สอง ในการทำ SWOT เพื่อวิเคราะห์ภายในองค์กรตาม F (การเงิน) C (ลูกค้า) I (กระบวยการภายใน) L (การเรียนรู้และเติบโต) ผู้เขียนทดลองทำวิธีนี้มาหลายครั้งแล้ว ได้ผลที่ดีพอสมควร แต่หากมองในมิติของ 7’S Framework น่าจะช่วยการวิเคราะห์ภายในองค์กรได้เหมาะสมกว่าหรือไม่ อยากให้ธุรกิจได้ลองเปรียบเทียบพิจารณาดู
อย่างสุดท้าย เป็นข้อคิดสำคัญ การทบทวนวิสัยทัศน์ คุณค่า ภารกิจ ควรจะจัดทำก่อนหรือภายหลังที่ธุรกิจได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ถ้าทบทวนก่อนมาวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายหลัง จะได้ประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธหรือไม่อย่างไร

ทั้งหมดนี้น่าคิดวิเคราะห์และทำความเข้าใจในเรื่องการจัดทำกลยุทธแนวใหม่ อย่าเพียงแต่เชื่อเพราะได้ยินชื่อ หรือเป็นเรื่องที่ทำต่อเนื่องมาในนาม Kaplan & Norton ผู้บุกเบิก Balanced Scorecard

No comments: