Wednesday, December 16, 2009

Coming Trends….Marketing 2010 By Dr.Danai Thieanphut

Coming Trends….Marketing 2010

ดร.ดนัย เทียนพุฒ ให้สัมภาษณ์ กับ นสพ. inMarketing ฉ. ปักษ์หลัง 16-31 ธ.ค.52 หน้า 2 ภายใต้กรอบ "Trend & Move จับคลื่นตลาดปีเสือดุ..!!




แนวโน้มการตลาดของ “ปีเสือ” จะเป็นอย่างไร ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังหาความแน่นนอนไม่ได้นั้น
ดร.ดนัย เทียนพุฒ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะนักยุทธศาสตร์และที่ปรึกษาธุรกิจได้ให้มุมมองพร้อมทั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มการตลาดในปี 2010 อย่างน่าสนใจ เพื่อที่จะให้นักการตลาดหรือองค์กรธุรกิจได้นำไปขบคิดหรือต่อยอด เพื่อวางยุทธศาสตร์และกลยุทธของตนเองได้อย่างถูกต้อง
“ประเด็นแรก ผมมองเห็นแนวโน้มของการทำตลาดกับสมาร์ทโฟนที่มาแรงอย่างทุกวันนี้ที่จะเห็นได้จามแคมเปญของซิตี้แบงก์กับ BB Curve ซึ่งแม้จะมีรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น จะต้องใช้บัตรเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ต้องมียอดค่าใช้จ่ายผ่านบัตรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท หรือแม้แต่ล่าสุดที่ทั้งค่ายเอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทคเข้ามาทำตลาด BB และ iPhone ตอนนี้ก็มือค่ายแอลจี ซัมซุงที่มาเล่นในส่วนของสมาร์ทโฟน โดยซัมซุงก็ลงโฆษณามือถือรุ่นล่าสุดของตัวเองว่าเป็นมือถือ 3G แม้ว่าจะเสียเปรียบค่ายที่เป็นโอเปอเรเตอร์อยู่บ้างที่ต่างก็โดดมาทำตลาด iPhone และ BB
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของ Content และ Data น่าจะต้องมีการขบคิดกันพอสมควรว่าจะทำอะไรตรงนี้ได้อีก เนื่องจากปัจจุบัน Social Networking มาแรง ซึ่งจะทำให้ตลาดตรงนี้เติบโตมากขึ้นไปอีก”
ประเด็นต่อมา ดร.ดนัย มองแนวโน้มของกลยุทธ์ “ตลาดความดี/ตลาดบารมี” หรือ CSR เป็นแนวโน้มของกลยุทธที่จะมาแรงในปี 2010 ดังจะเห็นได้จากกรณีของการฟ้องร้องกรณีมาบตาพุดที่กลุ่มเอ็นจีโอเป็นฝ่ายชนะ จึงจะทำให้เห็นว่า “ตลาดความดี/ตลาดบารมี” น่าจะเข้ามาหรือที่เรียกกันว่า White Ocean
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือไต้หวัน ซึ่งกลยุทธดังกล่าวแรงมาก โดยมีมูลนิธิหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อนำของรีไซเคิลไปขายทำรายได้เพื่อบริจาคกับคนยากไร้ ผู้ประสบเหตุอุทุกภัย วินาศภัย และบริจาคเพื่อร่วมโครงการลดโลกร้อน ด้วยจำนวนสถานีรีไซเคิลทั้งหมด 3,000 สถานี แต่ละสถานีรีไซเคิลของมูลนิธินี้สามารถทำรายได้ประมาณ 5-8.4 แสนบาทต่อเดือนต่อสถานี มูลนิธิดังกล่าวมีสมาชิกร่วม 10 ล้านคนและมีการจ่ายค่าสมาชิกด้วย ขณะที่มีนักธุรกิจประมาณ 3 หมื่นรายร่วมบริจาคคนละ 1 ล้านเหรียญไต้หวัน ดังนั้นจึงเป็น “บารมี” ของผู้นำองค์กร ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็สอดคล้องกับแนวคิดของปีเตอร์ ดรักเกอร์ กูรูทางด้านการบริหารจัดการที่ว่า การผลักดันองค์กรนั้นเป็น “บารมี”
ฉะนั้นประเด็นของ “จิตอาสา” หรือ Social Volunteer ของไต้หวันจึงแรงมาก และผมคิดว่าในประเทศไทยเองตรงนี้ก็จะเป็นประเด็นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะทำให้ธุรกิจปลอดภัยด้วย
นี่จึงเป็นตลาดแห่งการแผ่บารมี ตลาดแห่งความดี หรือที่เรียกกันว่า Whilte Ocean เพราะสุดท้ายแล้วในโลกของธุรกิจก็จะกลับมาที่โลกของจริยศาสตร์ เช่นเดียวกับที่สังคมไทยขณะนี้ที่กำลังสับสนวุ่นวาย สุดท้ายก็จะกลับมาที่ความดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องใช้เวลา ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นใช้เวลาถึง 40 ปีในการให้ความรู้กับผู้ผลิตทั่วโลกให้รู้จักกับ “วินัยในด้านคุณภาพ” (Quality Discipline) ขณะที่ญี่ปุ่นใช้เวลาถึง 50 ปีในการสอนวินัยและให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีในระดับอาชีวศึกษาให้กับไต้หวัน ในช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อที่จะป้อนคนไต้หวันเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมของตนเอง” ดร.ดนัยกล่าว
นอกจากแนวโน้มเรื่องสมาร์ทโฟน, Social Networking และ CSR แล้ว ดร.ดนัยมองถึงแนวโน้มการวิเคราะห์และการใส่มุมมองแบบทัศนภาพ (Scenarios) จะเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นทัศนภาพในเชิงของสังคม วัฒนธรรมหรือธุรกิจโดยเฉพาะในยุคนี้ที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคแห่งความโกลาหล วุ่นวาย โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเมือง ซึ่งสะท้อนถึงระดับของจริยธรรมที่อยู่ในระดับที่ต่ำมาก(ของการเมืองไทย) ดังนั้นการเขียนทัศนภาพให้ชัดจึงเป็นเรื่องจำเป็น
ส่วนปัญหาทางด้านเศรษฐีที่ยังผันผวนนั้น ดร.ดนัยยังมองในแง่ดีว่า
“แม้จะตกต่ำสุดอย่างไรก็จะสามารถกลับ (Recover) ได้ หรือแม้แต่กรณีของดูไบเวิลด์ก็เชื่อว่าไม่กระทบกับประเทศไทยมากนัก ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจในปีหน้ายังไปได้ไม่ตกอย่างปัจจุบันอุตสาห-กรรมรถยนต์หรือกลุ่ม OEM ก็เริ่มมีออร์เดอร์กลับเข้ามาแล้ว”
ประเด็นท้ายสุด ดร.ดนัย หยิบยกขึ้นมาน่าจะเป็นประเด็นที่น่าตกใจสำหรับผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ เป็นประเด็นที่อาจารย์เรียกว่า “Nearly Free”!!
Nearly Free เป็นแนวโน้มที่เป็นผลพวงมาจากการเติบโตของ Social Networking ที่คนรุ่นใหม่ใช้เวลาและฝังตัวเองกับโลกไซเบอร์มากขึ้น เพื่อพูดคุย แชร์ภาพ แชต หรือหาข้อมูลหรือแม้แต่การถามปัญหากันเองใน Social Networking จึงทำให้มีสินค้ามากมายหลายชนิดปรับตัวเข้าไปในโลก Social Networking ด้วยรูปลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอเนื้อหาประเภท Content, Data หรือส่วนลดจนเกือบจะเรียกว่า เกือบจะเป็นของฟรี
เนื่องจากโลกไซเบอร์สร้างความเคยชินกับผู้ใช้บริการว่า อะไรก็ตามที่อยู่บนโลกออนไลน์นั้นคือ ของฟรี หรือเกือบฟรี
ทว่า ความน่ากลัวที่เกิดขึ้นนั้น ดร.ดนัยชี้ให้เห็นว่า
ป้จจุบันสินค้าที่จับต้องได้และวางขายในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เกือบจะเรียกได้ว่า ของฟรี หรือของเกือบฟรี ที่เห็นตัวอย่างได้มากมายเช่น การให้สวนลด 25-50% หรือ 70% หรือมีส่วนลด On Top ฯลฯ
“ที่น่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการคือ ต่อไปจะไม่มีใครสามารถขายราคาเต็มได้ ตอนนี้แนวคิดเรื่องของฟรีที่ติดมาจากโลกออนไลน์มาสู่โลกกายภาพ (Physical) แล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า สินค้าที่คุณซื้อวันนี้อาจจะมีราคา 3,000 บาท แต่เมื่อถัดไป 2 สัปดาห์ราคาก็จะลดลงเหลือ 1,500 บาท เนื่องจากผู้ผลิตจัดรายการลดราคากันถี่มาก ซึ่งจุดนี้แหละที่จะทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจของผู้บริโภคเนื่องจากผู้บริโภคเองก็จะรอให้มีการลดราคาก่อนค่อยตัดสินใจซื้อจริง
ที่สำคัญแนวโน้ม Nearly Free นี้เราเองไม่สามารถตั้งราคาเผื่อตอนที่ลดราคา (Cover Discount) เนื่องจากจะถูกบล๊อกโดยระบบ เพราะหากคุณขายสินค้าของคุณราคาสูงก็จะไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะขายแพงกว่าคู่แข่งขัน
ยกตัวอย่างกรณีเป็นหนังสือ หนา 150 หน้า ต้นทุนจริง 40 บาท แต่เราตั้งราคาขายเผื่อไว้ที่ 200 บาทก็ถือว่าเป็นหนังสือแพงแล้ว เมื่อวางขายช่องทางการจัดจำหน่ายจะหักเปอร์เซนต์ตามสัดส่วนของราคาปก ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะไม่เหลืออะไรเลยด้วยซ้ำ”
ฉะนั้น การที่จะอยู่รอดในตลาดได้ในยุคที่ “คุณค่า” และ “ราคา” ไม่มีความหมายแล้ว กลยุทธที่จะใช้กับภาวะนี้คือ “แบรนด์” “การสร้างแบรนด์” และ”การสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์” เป็นกลยุทธที่จะทำให้นักการตลาดทะยานไปเหนือภาวะดังกล่าวได้..

No comments: