Sunday, May 10, 2009

F.T.I. FAIR งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

วันนี้ผมได้มีโอกาสไปงาน F.T.I. FAIR 19-23 กันยายน 2550 ที่เมืองทองเพื่อจะหาดูนวัตกรรมไทย

ถ้าจะบอกว่าสุดยอดที่สุดคือ กังหันน้ำชัยพัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่เราชาวไทยทราบกันอยู่แล้ว

นอกนั้น ลองดูจากภาพแล้วกันครับว่า เรามีนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย อะไรบ้าง แต่หากใครชอบซื้อของราคารากหญ้าต้องไม่ลืมแวะที่ สหพัฒน์แฟร์ รับรองถูกใจ

บูธของHonda ครับ

HondaJet

โรงงานเรือนกระจก-พลังแสงอาทิตย์

นี่ก็สุดยอดจาก Toyota

นวัตกรรมไทย ฝึกอาชีพ สารพัด ในรูปเป็นทำต้นไม้มงคล ยังมีร้อยลูกปัดด้วยนะครับ

สไลด์โชว์ภาพในงานที่ผมสนใจ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNT Consultants

ค่าเงินบาท :มองอีกด้านหนึ่งที่เราไม่เคยได้

เรามักมองอะไรด้านเดียวหรือ ถูกข่าวสารชักจูงจนไม่เคยมองด้านอื่น ๆ ลองมาพิจารณาด้านของค่าเงินบาทที่แข็งค่าแต่เราไม่เคยมองและก็ไม่ได้อะไรเลย หรือได้น้อยมากสำหรับประชาชนคนไทยทั่วไป

วิวัฒนาการของค่าเงินบาท

1.ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่โดยผูกค่าเงินบาทกับเงินปอนด์สเตอลิงเพียงสกุลเดียว คือ 1 ปอนด์ เท่ากับ 11 บาท
พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมาก เกิดตลาดมืด รัฐบาลไม่สามารถควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้อย่างมีเสถียรภาพ
ในปี 2490 เราได้เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่แบบหลายอัตรา คือ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 12.50 บาท


2.การเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบตะกร้าเงิน ข้อมูลจาก http://www.settrade.com ระบุว่า เราใช้เมื่อ 2 พ.ย.2527
(ขณะที่ เวบไซท์อื่น ๆ ระบุ 1 พ.ย. 21 : คงต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ครับ!) กับเงินสถุลของประเทศคู่ค้าสำคัญ 7 ประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงค์โปร์ โดย 1 ดอลล่าร์ เท่ากับ 20-25 บาท
ในปี 2524 เราย่ำแย่มากทางระบบการเงินสำรอง ทำให้ต้องกู้จาก IMF เป็นครั้งแรก 81.45 ล้าน $US
ปี 2526 เรามีเงินทุนสำรอง2,500 ล้าน $ US ทำให้เราต้องกู้จาก IMF อีก 150 ล้าน $ US
เพราะผลจากระบบการเงินที่ไม่แข็งแรงทำให้เมื่อ 4 เม.ย.27 เกิด "โครงการ 4 เม.ย.27" กู้วิฤกตไฟแนนซ์ เน่า
เราลดค่าเงินบาท ในเดือน พ.ย. 27 เพราะ ธนาคารและสถาบันการเงินเราปล่อยสินเชื่อที่ขาดคุณภาพ เกิด NPL และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
ปี 2528 เรากู้จาก IMF อีกเป็นครั้งที่ 3 จำนวน 400 ล้าน $ US และเพื่อชดเชยรายได้จากการส่งออก อีก 185 ล้าน $US รวมแล้ว 585 $ US
ช่วงก่อนวิกฤตทางการเงินอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 31 บาท


3. ปี 2540 เราเกิดวิกฤตทางการเงิน (เริ่มตั้งแต่ ปี 2539 แล้ว) จึงได้เปลี่ยนมาใช้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวกึ่งจัดการได้ (Managed Float) คือ ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ กับบาทเป็นไปตามอุปทาน และอุปสงค์ของตลาด ทำให้ค่าเงินบาท เทียบแล้ว คือ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 50 กว่าบาท ทำให้เศรษฐกิจล้มตายเป็นจำนวนมากเพราะเรากู้ระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงินปล่อยให้ค่าบาทลอยตัว ฝรั่งเรียกเงินกู้คืนเราไม่มีชำระหนี้ เพราะยอดหนี้เพิ่มเกือบเท่าตัว จึงเป็นอันจบสิ้นของธุรกิจไทย
(ข้อมูลบางส่วนจาก http://www.dailynews.co.th)

อีกด้านของค่าเงินบาท

ยามที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเรามักจะมองว่าจะเกิดเหตุการณืวิกฤตทางการเงินเพราะเรามีบทเรียนที่เลวร้ายในด้านค่าเงินบาทมาตั้งแต่ในอดีตหากทุกท่านจำกันได้
-แต่เดิมทีค่าเงินบาทของเราสมัยปี โน้นตอนผมยังเด็ก ๆ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 20 บาท ยังมีความรู้สึกว่าโอ้เรานี่ยังห่างไกลนะกับประเทศในโลกนี้
แล้วหลังจากนั้น ช่วงนานทีเดียว กว่าที่จะมาเป็น 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท แสดงให้เห็นว่า ประเทศเรายิ่งพัฒนายิ่งถอยลง และในช่วงวิกฤตทางการเงิน ตอนที่ปลดผบ.ทบ. สมัย พล เอก.เปรม ท่านเป็น นายกรัฐมนตรี ผมจำได้ว่า เราไม่กระทบมากนัก เพราะเศรษฐกิจ เราไม่ใหญ่โตอะไร ที่ปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว คือ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 31 บาท ธุรกิจที่ได้กำไร คือ คนที่รู้ก่อนว่าจะลดค่าเงินบาท จะมีธุรกิจ 2 ธุรกิจ (อุตสาหกรรม เกี่ยวกับก่อสร้าง และ การเงิน)
ที่ได้ประประโยชน์จากความใกล้ชิดกับรัฐมนตรีคลัง หรือ เคยมีส่วนในธุรกิจนั้นมาก่อน จึงรีบชำระหนี้ต่างประเทศ รอดพ้นวิกฤตทำกำไรมหาศาล

ปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนของเรา กับดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาเรื่อย จาก 51 กว่าบาทต่อ 1 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 34 บาท หรือ น้อยกว่านี้น ซึ่งมีทั้ง 2 อย่างคือ เศรษฐกิจค่อย ๆ ปรับตัว กับ การแทรกแซงของ ธปท. และ มีบางครั้งจากการโจมตีค่าเงินของคนนอกประเทศที่ต้องการป่วนประเทศ

เราได้อะไรจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า

อย่างแรกครับ ต้องยอมรับว่าสินค้าต่าง ๆ ของเรานำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้สินค้าเหล่านั้นราคาถูกลง แต่เราไม่เคยได้ยินว่าพวกพ่อค้า ลดราคาสินค้าให้เราเลย
อีกทั้งอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่นำเข้าวัตถุดิบ จะมีราคาถูกลง ทำให้ต้นทุนสินค้าราคาต่ำลง และ กำไรมากขึ้น แต่คนไทยหรือ ผู้บริโภคก็ไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้เลย
ทั้งราคาน้ำมัน(ปรับลงช้ามากกว่าการขึ้นราคา) ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และ คอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งควรจะถูกลงกลับไม่มีการลดราคา

อย่างต่อมาที่สำคัญมาก คือ อุตสาหกรรมไทยควรฉวยจังหวะนี้ เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม ลงทุนพัฒนาคนให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ เพราะจะทำให้ผลิตสินค้าและต้นทุนที่ตำลง มิฉะนั้นก็ไม่มีทางสู้กับ ประเทศจีน อินเดีย เวียตนาม ที่คุณภาพการผลิตดีกว่าในขณะนี้

(เราเข้าใจผิดว่าเขาแรงงานถูกกว่าซึ่งความจริงแล้ว เขาผลิตได้คุณภาพแล้ว และ ยิ่งขายมากคุณภาพยิ่งสูงขึ้นเพราะเขามีช่องทางจำหน่าย แต่เราไม่มีเพราะเรายังคิดและทำแบบเดิม คือ รับจ้างผลิต กับ แค่ไปออกงานแสดงสินค้า หรือ จับคู่ธุรกิจ ขณะที่ประเทศอื่นเปลี่ยนวิธีการแข่งขันใหม่ในตลาดโลกแล้วโดยเฉพาะ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ขณะที่ ญี่ปุ่นเริ่มพูดดัง ๆ มา 2-3 ปีแล้วว่าให้คนไทยในอุตสาหกรรมของเขาต้องหาวิธี ลดต้นทุนให้ต่ำเพราะต้นทุนพัฒนาให้ต่ำยากแต่ต้องทำให้เร็ว ขณะที่ประเทศที่อุตสาหกรรมต้นทุนต่ำ แรงงานถูกสามารถพัฒนาทักษะให้ดีได้)

เนื่องจากถ้าเราปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ (ไม่ใช่ซ่อมเครื่องจักรเก่า เทคโนโลยี่ล้าหลัง) คุณภาพสินค้าจะดีขึ้นและแข่งขันได้ในตลาดโลก แต่ผู้ประกอบการเราห่วงกำไรและเงินที่ร่ำรวยทู้ซี้ใช้เครื่องจักรเก่า กับแรงงานราคาถูก เพื่อจะได้กำไรมาก แล้วมาร้องทีหลังว่าส่งออกยาก ราคาเราแพงขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการแบบเดิม ๆ เพื่อให้รัฐบาลทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงด้วยการแทรกแซงค่าเงินบาทจากทุนสำรองของประเทศ

อย่างสุดท้าย การไปซี้อสินค้าในตลาดโลกจะถูกลง ผู้เขียนเพิ่งกลับมาจากสิงคโปร์ เราสบายมากครับ 1ดอลลาร์สิงคโปร์เท่ากับ 22บาท เศษ ผู้เขียนซื้อความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเต็มเลย สำหรับการใช้เพื่อธุรกิจด้านที่ปรึกษาของบริษัท ขณะที่บ้านเรายังไม่เข้ามา หรือ มาแล้วไม่ยอมลดราคาตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น


แต่เชื่อไหมครับ ราคารถไฟฟ้าที่บ้านเราปรับขึ้นตลอดเวลา บ้านเขา 3 ปี ยังเท่าเดิม เพราะ ผู้เขียนนั่งรถไฟฟ้าจากสนามบินชางฮี เดิม 44.20 บาท เดี๋ยวนี้เหลือ 37.74 บาท ยิ่งเสื้อผ้าโดยเฉพาะ แบรนด์ดังอย่าง PUMA ราคาบ้านเราไม่เคยลดราคาเลย ที่นั่นลดราคาสินค้าใหม่ หรือ บางรายการจาก 15 -30 %

ความจริงแล้ว ค่าเงินบาทมีทั้งดีและไม่ดี ครับมอง 2 ด้านบ้างก็ดี แต่ถ้าดูสถิติแล้ว จะบอกว่าบาทแข็งค่าจะเทียบกับอะไร ตอนไหน เพราะในอดีตเราแข็งกว่านี้อีก แต่เราก็ยังอยู่กันได้ดีด้วย

จึงกลายเป็นว่า ค่าบาทแข็งใครได้ประโยชน์ มากกว่าแต่ประชาชน คนไทยรับกรรมทั้งขึ้นทั้งล่อง ผลบุญไม่ค่อยถึงหรอกครับ จริงมั๊ยดูจากประวัติศาสตร์ได้

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNT Consultants

ผู้ประกอบการไทย :วิธีแข่งขันที่ไร้อนาคตแบบเดิม ๆ

ผู้ประกอบการไทย :วิธีแข่งขันที่ไร้อนาคต

ทุกครั้งของประเทศไทย ที่เราเห็นเมื่อมีการแข็งค่าของค่าเงินบาท จะมีผู้ประกอบการ รวมทั้งสภา ฯ หอการค้าฯ ชมรมหลาย ๆ ธุรกิจ ออกมาบอกให้ รัฐบาลหรือ ธปท. เข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนตัวลง

 (เงินที่ใช้แทรกแซงก็คือทุนสำรองนั่นเองโดยที่ครั้งหนึ่ง ธปท.ก็แทรกแซง ตอน ปี '39 จนหมดทุนสำรอง แล้วประเทศก็เจ๊ง ล่มสลายทั้งชาติ เพราะช่วยพวกส่งออกนี่ละครับ แต่ที่แปลกมากยามที่ธุรกิจเหล่านี้ทำกำไรไม่เห็นทำอะไรให้ประชาชนที่รับกรรมจากผลค่าเงินบาทลอยตัว หรือ ลดราคาสินค้าให้กับผู้บริโภค)

ความจริงในเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท เท่าที่มีข้อสรุปจะมาจาก
1. เงินไหลเข้ามา ลงทุนในตลาดหุ้น หรือ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือการมาเก็งกำไรระยะสั้น และกอบโกยผลประโยชน์ พร้อมสิทธิพิเศษ ที่ไม่ต้องเสียภาษี  ออกไปนอกประเทส แล้วก็หมุนเวียนเข้ามาเก็งกำไร อย่างนี้ (ตอนที่ หม่อมอุ๋ย สกัดการเก็งกำไร ด้วยการให้นักลงทุนต่างชาติต้องสำรองเงิน 30% โดยไม่ให้เงินไหลออกทันที่ บรรดา โบรเกอร์(ที่ส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติแต่คนไทยเป็นผู้บริหาร) ทั้งหมดต่างร้องออกมาว่านักลงทุนต่างชาติหนี ไม่มีใครจะมาลงทุนในตลาดหุ้น(เก็งกำไร) แต่ได้ผล หยุดการไหลเข้าของเงินเก็งกำไรในตลาดหุ้น แต่ หม่อมอุ๋ยหยุดการ่วมรัฐบาล และก็ถอยมาตรการนี้ในภายหลัง)
2. การที่ดอลล่าร์อ่อนตัว ซึ่งอาจจะมาจากเป็นความตั้งใจของสหรัฐที่ค้าขายสู้ ประเทศ จีน ไม่ได้จึงปล่อยให้ค่าเงินอ่อนตัว เพื่อสินค้าจีน หรือ ทั้งโลกแพงขึ้นคนอเมริกาจะได้ซื้อน้อยลง

ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นสัจจธรรมที่วนเวียนในตลาดการเงินของโลก แต่ถ้ามีปัจจัยอื่น เช่น การเก็งกำไรด้าน น้ำมัน  หรือ ทองคำ ก็จะยิ่งทำให้ค่าเงินแกว่งตัวสูงขึ้น หรือ ปัจจัยสุดท้ายเกิด จาก คนพเนจรที่อยู่นอกประเทศใช้เงิน โจมตีค่าเงินบาท หรือ เข้ามาปั่นราคาหุ้นผ่านนักลงทุนต่างชาติจากประเทสใกล้บ้านเราไม่ทางเหนือ ก็ทางใต้ ให้ป่วน ซึ่งตอนหลังคงละเลยปัจจัยนี้ไม่ได้ แต่ยังมีอีแอบที่ทำกำไรตามน้ำของเหตุการณ์คือ  พ่อค้าส่งออกที่เก็งกำไรค่าเงินที่มีอยู่ในสำนักงานนอกประเทศ กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ที่มีเงินในมือและตามแห่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงและฟันกำไรโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าอีแร้ง 2 ตัวนี้เป็นอีแอบรวยเงียบ ๆ

 กลับมาที่ผู้ประกอบการไทย หาก ยังคงจะส่งออกด้วยวิธีการแบบเดิมๆ  คือเมื่อยามกำไรเอาเข้ากระเป๋า ยามขาดทุนให้รัฐบาทแทรกแซงค่าเงิน เป็นธุรกิจที่น่าทำจริงๆ


ทั้งที่ความจริงแล้วการทำธฑุรกิจในตลาดโลกไม่มีทางที่จะแข่งขันได้ต้องปรับตัวตามที่พูดกันแต่ไม่ใช่วิธีที่เอาเปรียบคนทั้งชาติ
1.ต้องลดต้นทุนในการแข่งขัน เพราะอุตสาหกรรมในดลกนี้เขาทำอย่างนี้กันทั้งนั้น
2.ต้องลงทุนใข้เทคโนโลยีใหม่ในการแข่งขัน เรากลับคิดกลับกัน โดย  ซ่อมเครื่องจักรเก่าเพื่อจะแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งไม่มีทางที่จะผลิตสินค้าได้คุณภาพที่สูงขึ้นราคาถูกลง (ในประเทศไทยมีเครื่องจักรประมาณ 80000 เครื่อง  ตกยุคแล้ว 40000 เครื่อง ทั้งๆ ที่เครื่องจักรใหม่ราคาถูกกว่า(แต่แพงเพราะบ้านเราเก็บภาษีการนำเข้าเครื่องจักรที่สูงมาก) ผลิตได้ดีกว่า อาจจะใช้แรงงานที่ทักษะสูงขึ้นโดยลงทุนพัฒนา

 ไม่มีวิธีอื่นที่จะแข่งขันได้ หากอุตสาหกรรมส่งออกยังใช้วิธีรวยเอาขาดทุนโยนให้คนทั้งชาติ แล้วทำไม่เราต้องช่วยคนพวกนี้ แลกกับการจ้างแรงงานราคาถูกเพียง 1 ล้านคน  แต่คนอีก 60 กว่าล้านคนต้องใช้ของแพง ต้องเสี่ยงกับการล่มจมจากพวกส่งออกที่รัฐบาลเอาทุนสำรองไปแทรกแซงค่าเงินบาท ให้อ่อนค่า กลับทำให้ น้ำมันราคา ของแพง ทุก ๆ อย่างแพง คุ้มหรือไม่ ใครช่วยตอบที ??

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNT Consultants

10 ปีแห่งวิกฤตทางการเงิน : ได้เรียนรู้หรือเปิดสายไหมเส้นใหม่

OK Nation.net เปิดเวทีให้สมาชิกชุมชนรังสรรค์ในวาระที่ครบรอบ 10 ปีแห่งวิกฤตทางการเงิน ผู้เขียนถือวิสาสะว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชน OKNation.net จึงจะขอเขียนในมิติที่แตกต่างออกไป โดยจะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกันในสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก 10 ปีแห่งวิกฤตทางการเงินคือ บุพปัจจัยของวิกฤตทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจคู่ขนาน : เป็นทั้งผู้สร้างและทำลาย และบทสรุป : เศรษฐกิจหมุนกลับทิศทาง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


บุพปัจจัยของวิกฤตทางการเงิน: ปฐมบทที่ได้เรียนรู้
คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของไทยเราเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีและโดยเฉพาะนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งเดินทางมาถึงปี’2539
- การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงนั้นเรียกว่า เครื่องร้อนทีเดียวเพราะเราเข้าใจว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยเรามั่นคง มีการส่งออกเป็นจำนวนและมีเงินทุนสำรองน่าจะประมาณสื่หมื่นล้านUSดอลลาร์
- กิจการอสังหาริมทรัพย์เติบโตถึงขีดสุด แต่เป็นการโตบนพื้นฐานของการกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศและมาลงทุนระยะยาวในประเทศ
- ธุรกิจเช่า-ซื้อรถยนตฺ์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจรายเดียว ก็เกินกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดและก็นำเงินที่ได้ไปหมุนหลายรอบเพื่อสร้างราคาหุ้นแล้วกู้เพิ่ม สร้างราคาหุ้นและกู้เพิ่ม


ดังนั้นสถาบันทางการเงินและธนาคารจึงร่ำรวยและปล่อยกู้อย่างเพลิดเพลินไปกับเศรษฐกิจภาพลวงตา
ฟองสบู่ดังกล่าวเป็นฟองที่อบอวล สวยงามสาดกระจายไปทั่วทุกธุรกิจและหย่อมหญ้าในประเทศไทย
ฉับพลันทันใดนั้น เมื่อเราถูกพวกกองทุนข้ามชาติ (อีแร้งฟันด์) หรือพวกพ่อค้าโจร (Robber Baron) ทุบค่าเงินบาทและด้วยความไม่ประสีประสาของ ธปท.ที่ดูแลตะกร้าเงินบาทที่ผูกติดกับUSดอลลาร์ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และในเกมที่ธปท.ชนะถึงกับเปิดแชมเปญเลี้ยงอย่างลำพองใจ ซึ่งหารู้ไม่ว่าหายนะห่างไปแค่ปากเหว
ในทันทีที่ถูกโจมตีรอบสุดท้ายด้วยเงินจากกองทุนข้ามชาติ ธปท.ก็หมดเงินสำรองที่จะใช้ยันค่าเงินบาท จึงต้องจำใจยอมแพ้ปล่อยให้ล่องลอยไปถึง 50 กว่าบาทและเข้าแผนฟื้นฟูของ IMF จนสิ้นอิสรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ทำให้ธุรกิจใหญ่น้อยที่กู้เงินดอกเบี้ยถูกในระยะสั้นมีหนี้สินทบเท่าพันทวี สูญเสียกิจการล้มระเนระนาดทุกกลุ่มและทุกชนชั้นของสังคมในประเทศไทย


ระบบเศรษฐกิจคู่ขนาน: เป็นทั้งผู้สร้างและทำลาย
สังคมไทยเราเรียกหา อัศวินม้าขาวหรือกบเลือกนายที่จะเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ ขอตัดภาพมาที่เราได้ อัศวินควายดำ (ตามการเรียกขานของ (คุณสรกล แห่งค่ายมติชน)เข้ามาพร้อมกับคัมภีร์เศรษฐกิจเล่มใหม่ “ระบบเศรษฐกิจคู่ขนาน” (Dual Track Economy)
มหากาพย์บทที่ 1 : Episode I
“4ปีสร้างเศรษฐกิจ A (เกษตร) I (อุตสาหกรรม) S (บริการ)
ด้วยพื้นฐานของ 4 ปีสร้างเศรษฐกิจ A (เกษตร) I (อุตสาหกรรม) S (บริการ) ที่มีเบื้องหลังของ “เศรษฐกิจการตลาด” (Market-Driven Economy) โดยทำคลอดออกมาในนาม “เศรษฐกิจคู่ขนาน” (Dual Track Economy)

การเมืองเชิงการตลาดที่ต้องการปูฐานเสียงกับกลุ่มคนหรือชุมชนรากหญ้าด้วยการเอาชนะวงจร “โง่-จน-เจ็บ”

หรือ”วงจรชั่วร้ายแห่งความยากจน”


ลัทธิประชานิยมจึงถูกแคมเปญทางการตลาดกระหน่ำไปสร้างความรู้ด้วยทุนการศึกษาจากหวยบนดิน หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษาและโรงเรียนในฝัน ฯลฯ ถ้าคิดง่ายๆ ให้ค่าเทอมเรียนฟรี คนละ 1,000 บาทก็เป็นเงินเพียง 12,000 ล้านบาทแต่ก็ได้ประชานิยม 12 ล้านคน
คนจน 7.5 ล้านคนหรือร้อยละ 12 ของประชากรทั่วทั้งประเทศจะหมดใน 6 ปี อาทิ สิ่งที่จะทำให้คนจนหมดไป
-กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านและเพิ่มมาเป็นโครงการ SML หมู่บ้านละ 200,000 – 300,000 บาทเพื่อบริหารกันเอง 4 ปี
-OTOP (1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์) และ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นงานด้านพัฒนาองค์กรชุมชน ณ ปัจจุบันนี้
-บ้านเอื้ออาทร 1 ล้านยูนิตใน 5 ปี เพียงยูนิตละ 4 แสนบาท รัฐช่วยค่าสาธารณูปโภค 50,000 บาทต่อยูนิต
เจ็บ คือ คน 47 ล้านคนที่เป็นผู้ประกันตนจะได้รักษาโรคเกือบฟรี คือจ่ายเพียง 30 ปี
บทสรุปที่เป็นบทเรียนสำคัญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้เมื่อ 13 ก.ย.47 เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2530-2545 ประเทศไทยมีการคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 12 ล้านล้านบาท (http://www.numtan,com/nineboard/view.php?id=2219)


กลุ่มคนชั้นกลาง มีประมาณ 25% ของประชากรทั้งประเทศได้ถูกทีมระดม “ถอนขนห่าน” เพื่อนำเงินไปเลี้ยงกลุ่ม 60-65% หรือคนรากหญ้า และกลุ่มคนชั้นสูง 10%ที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือใช้วิธีการทางกฎหมายจากหมอภาษีและนักกฎหมายมือเยี่ยมหากสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกขั้วไหน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างให้คนชั้นกลาง นักวิชาการ ปัญญาชน รับกับเศษความรู้ด้วยการแนะนำหนังสือให้อ่านจะได้ไม่ยุ่งกับการเมือง ขณะเดียวกันก็มีโปรโมชั่นทางการตลาดสารพัดเพื่อให้ติดอยู่กับ “ลัทธิบริโภคสุขนิยม”


สรุปแล้วบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากมหากาพย์ที่ 1: Episod I 4 ปีสร้างเศรษฐกิจ A (เกษตร) I (อุตสาหกรรม) S (บริการ)
พบว่า คนที่เลี้ยงคนทั่วประเทศมีกลุ่มเดียวคือ ชนชั้นกลางที่ถูกฝังตรึงให้อยู่กับเศษความรู้และลัทธิบริโภคสุขนิยม
ขณะเดียวกันกลุ่มคนระดับรากหญ้า รับประชานิยมไปเต็มๆ เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญสำคัญ ขณะที่กลุ่มชนชั้นสูงเริ่มสังกัดขั้วชัดเจนเพราะจะได้อิงอำนาจและมีธุรกิจทำ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งนี้ได้เกิดเป็นฟองสบู่ของทางเศรษฐกิจของกลุ่มชุมชนรากหญ้าขึ้นมาแล้ว


มหากาพย์บทที่ 2 : Episode II
“4ปีเศรษฐกิจบริโภคสุขนิยมมหภาค”

จากรูป 10 ปีบนเส้นทางเศรษฐกิจคู่ขนาน : เป็นทั้งผู้สร้างและทำลาย ภายหลัง 19 ก.ย.49 เป็นวันล่มสลายของเศรษฐกิจคู่ขนาน
คำว่าเศรษฐกิจคู่ขนานคือ เน้นการส่งออก การทำ FTA (Free Trade Agreement) และ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) และการใช้เศรษฐกิจการตลาดในรูปแบบประชานิยมลงไปสู่เศรษฐกิจชุมชนรากหญ้า เพื่อให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเพราะมีเงินที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ แต่ไม่สร้างผลิตภาพ
หลังจากนั้นอีก 4 ปีเป็น เศรษฐกิจบริโภคสุขนิยมมหภาค โดยที่เราจะพบบทเรียนที่สำคัญทางเศรษฐกิจคือ
กลุ่มชนชั้นปกครอง (นักการเมือง ผู้ประกอบการหรือธุรกิจอิงอำนาจการเมือง ข้าราชการระดับสูงหรือบางกลุ่มที่ชอบประชานิยมเช่นกัน ทหาร-ตำรวจ (เรียนรุ่นเดียวกัน)) ได้ปรับตนเองเป็น “กลุ่มธนกิจการเมือง” กลุ่มชนชั้นกลางเข้าสู่ กลุ่มบริโภคสุขนิยมเต็มตัว และกลุ่มประเภทรากหญ้าได้ปรับเปลี่ยนเป็นพลังทางสังคมที่เป็นลักษณะ “เครือข่ายชุมชนรากหญ้า” ศึกษาลักษณะทางกายภาพได้จากกลุ่มที่มาชุมนุมในปัจจุบันนี้ แต่กลุ่มนี้คือรูปแบบใหม่ของฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ
ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางบางส่วนเริ่มเรียนรู้และถอนตัวจากกลุ่มบริโภคสุขนิยม รวมถึงมีปรากฏการณ์ “จตุคาม-รามเทพ” ที่อาศัยการตลาดเชิงจิตวิญญาณทำให้มีเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท


บทสรุป : เศรษฐกิจหมุนกลับทิศทาง
ในภาพเศรษฐกิจของประเทศหลัง 19 ก.ย.49 จนถึงปัจจุบัน น่าจะสรุปได้โดยพิจารณาจากงบประมาณปี’51 ของรัฐบาลชั่วคราว-ขิงแก่พบว่า ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบหมุนกลับทิศทาง (Paradox Economy) กลายเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การพัฒนาสังคมอุดมคติรากหญ้าด้วยงบประมาณสูงถึง 58% ของงบประมาณ 1.6 พันล้านล้านบาท
ซึ่งในเนื้อหาแล้วก็คือ รูปแบบของ 8 ปีเศรษฐกิจคู่ขนานนั้นเองเพียงกลับหัวเศรษฐกิจเสรีหรือทุนนิยมลง แล้วพลิกฟองสบู่เครือข่ายชุมชนรากหญ้าเป็น “เศรษฐกิจสังคมอุดมคติรากหญ้า” ที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ถ้าพิจารณาในรายละเอียดงบประมาณปี’51 ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนกลุ่มให้เข้ากับกระแสสันติวิธีบนความสมานฉันท์ (ไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีรุนแรง แต่ก็ไม่ไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา) หรือการขับเคลื่อนตามกระแสพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง (ผู้เขียนเห็นด้วยกับพระราชดำรัสแต่กังวลในวิธีการที่รัฐบาลชั่วคราวนี้ทำเท่านั้น)
ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นประชาชนทั่วไปหรือธุรกิจหลักถูกลดความสำคัญลงปัญหาต่างๆ คงซุกไว้ใต้พรมเพื่อรอรัฐบาลใหม่และข้าราชการส่วนใหญ่ยังคงขับเคลื่อนแบบเดิมคือ ปรับเงินเดือนและเพิ่มหน่วยงานใหม่ แต่จุดที่น่าศึกษาอย่างยิ่งคือการออก พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ที่เรากำลังจะเคลื่อนไปสู่ “สังคมอุดมชราภาพของข้าราชการระดับสูง” ที่ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
สรุปแล้ว 10 ปีแห่งวิกฤตทางการเงินจึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้นั้นได้นำไปสู่ฟองสบู่รอบใหม่หรือกลับทิศกลับทางในการพัฒนาประเทศตามสายไหมเส้นใหม่ที่เป็นเนื้อหาเดิม


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNT Consultants

6 ยุทธศาสตร์อุคมคติเพ้อฝันทางสังคมรากหญ้า ปี 51 หลังวิกฤตทางการเงิน

6 ยุทธศาสตร์อุคมคติเพ้อฝันทางสังคมรากหญ้า ปี 51 หลังวิกฤตทางการเงิน

ไม่น่าเชื่อว่าการพัฒนาประเทศจะเดินหลงทางหรือ ไม่เป็นไปเพื่อฟื้นหรือกระตุ้นพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไปในประเทศ  แต่กับมุ่งงบประมาณไปทางด้านอุดมคติทางสังคมเพียงอย่างเดียว


ถ้าดูงบด้านสังคมรากหญ้า จะมีงบรวมกันถึง 58.6 % หรือ เป็นเงิน 973,227.1 ล้านบาท เกินกว่าครึ่งหนึ่ง
ขณะที่อะไรคือลำดับความสำคัญเร่งด่วนของประเทศในขณะนี้ไม่ได้รับความสำคัญ เช่น  การฟื้นและพัฒาการเศรษฐกิจของประชาชนทั่วไปที่ขาดกำลังซื้อขายของไม่ได้ 
ได้ถูกลดงบประมาณ หรือ แม้แต่งบด้านความมั่นคงแก้ปัญหา 3 จังหวัด ภาคใต้ ก็ไม่มากมายอะไร ที่จะสะท้อนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ที่กลายเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ

ดูได้จากยุทธศาสตร์ ทั้งหมด ด้วยงบประมาณ 1,660,000 ล้านบาท ที่แยกแยะให้เห็นสัดส่วนได้ต่อไปนี้
1.การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพทีดี มีคุณธรรม และสามารถปรับตัวสู่สังคมฐานความรู้
  563,262 ล้านบาท หรือ 33.9 %
2.การแก้ไขความยากจน กระจายความเจริญสู่ชนบท และลดช่องว่างของรายได้
  59,833.3 ล้านบาท หรือ 3.6 % 
3.การเพิ่มขีดควาสามารถในการแข่งขันเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 
  1,828,750.5  ล้านบาท หรือ 11 % 
4.การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
  50,744.3 ล้านบาท หรือ 3.1 %
5.การพัฒนาเมือง และการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
  409,965.1 ล้านบาท หรือ 24.7 % 
6.การรักษาความมั่นคงของชาติและความสุขของสังคม
  216,690.3 ล้านบาท หรือ 13.2 % 

ถ้าดูงบด้านสังคมรากหญ้า จะมีงบรวมกันถึง 58.6 % หรือ เป็นเงิน 973,227.1 ล้านบาท ขณะที่อะไรคือลำดับความสำคัญของประเทศไม่ได้รับความสำคัญ ประชาชนทั่วไปจะเป็นอย่างไร งบประมาณควรให้ลำดับความสำคัญเร่งด่วนในเรื่องปากท้องของประชาชนทั่วไปและคืนความสงบมาสู่ประเทศไทย ...

....สนช ต้องพิจารณางบประมาณอย่างรอบครอบครับ  รัฐบาลนี้อยู่แค่อีกไม่กี่เดือนกลายเป็นกอบงบประมาณเหมือนมีเจตนาแอบแฝงหลังหมดวาระพิเศษนี้

ยกเลิกระบบ ซี ผลิตภัณฑ์ใหม่ปฏิรูปราชการ

การปฏิรูปราชการ เห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด ในรัฐบาลปัจจุบัน ตั้งแต่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เกี่ยวกับการตั้งกระทรวง ทบวง กรม และการจัดแบ่งส่วนราชการ และร้อนที่สุดตามที่มีข่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ ที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ สรุปง่ายๆ คือ ยกเลิกระบบซี (C : Common Level) 

หรือระบบตำแหน่ง (พีซี) (PC : Position Classification) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบบ PC ถ้าอธิบายให้ง่ายจะเป็นเรื่องของการกำหนดตำแหน่งข้าราชการทั้งหมดว่า จะมีตำแหน่งหน้าที่อย่างไร และถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ใครที่ตำแหน่งสูงกว่าจะได้รับเงินเดือนมากกว่า เช่น ซี 11 จะมีเงินเดือนสูงกว่า ซี 1 ซึ่งในระบบตำแหน่งเดิมนั้น จะมีซีตั้งแต่ซี 1 จนถึงซี 11 (ตำแหน่งปลัดกระทรวง) 

ท่านที่ไม่อยู่ในระบบราชการ อาจจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีอยู่แล้ว เพราะว่าในภาคเอกชนจะมีการใช้ระบบกำหนดตำแหน่งแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่ระบบซี หรือระบบ PC มาก่อนภาคราชการหลายปีแล้ว ระบบนี้เรียกกันว่า ระบบบรอดแบนด์ (Braodbanding) 

ระบบบรอดแบนด์ที่ว่านี้ ภาคเอกชนที่มีการใช้นั้น มีผลมาจากการปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ เช่น แนวคิดในการแข่งขันทางธุรกิจเปิดกว้างมากขึ้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือทางกลยุทธ์ใหม่ อาทิ การใช้แนวคิดของการประเมินองค์กรแบบสมดุล (BSC) หรือดัชนีวัดผลสำเร็จธุรกิจ (KPIs) มีการตลาดสมัยใหม่ที่เน้นวัฒนธรรม (Cultural Marketing) 

เมื่อธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรุนแรงและเร็ว จึงอยากรู้ว่า คนที่มีความสามารถ (Competence) สูงนั้น จะทำให้ธุรกิจมีผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด ก็จะใช้ดัชนีวัดผลสำเร็จธุรกิจเข้ามาวัด 

ส่วนการจะให้รางวัลตอบแทน ทั้งความก้าวหน้าในชีวิต หรือหน้าที่การงาน และประโยชน์เพิ่มต่างๆ โดยเฉพาะเงินเดือนในระบบใหม่ จะให้ตามความสามารถ ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของการที่ภาคเอกชนนำระบบบรอดแบนด์เข้ามากำหนดตำแหน่งของกลุ่มงาน หรือกลุ่มคนทำงานในองค์กร และเมื่อทำดังนั้นได้แล้ว ก็จะจ่ายค่าตอบแทนในระบบที่เป็นช่วงกว้าง ค่าจ้างตามแนวคิดของบรอดแบนด์อีกเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ยินในภาคเอกชนพูดถึง คือการจ่ายค่าตอบแทนตามผลสำเร็จ (Pay for Result) ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ค่าตอบแทนตามความสามารถ ค่าตอบแทนตามทักษะ และค่าตอบแทนตามผลงาน 

เมื่อองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะองค์กรกลางด้านบริหารงานบุคคล เช่น สำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอให้ "เลิกระบบซี" หรือ "ล้มกระดานในระบบตำแหน่ง" ที่ใช้อยู่เดิม ต้องขอชื่นชมว่า เป็นความพยายาม และเป็นความกล้าหาญทางวิชาการด้านบริหารงานบุคคลที่สูงยิ่ง โดยเฉพาะการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้มีความเข้าใจและเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ เลิกระบบ "ซี" ผลิตภัณฑ์ใหม่ของการบริหารคน 

ในการบริหารคน หรือบริหารงานบุคคล สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญมากๆ คือ ระบบตำแหน่ง หรือที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นเคยว่า "ซี" นั่นเอง 

สิ่งที่เป็น "ผลผลิต" (Output) ที่ชัดเจนที่สุดในการปฏิรูปราชการเท่าที่ได้มีโอกาสติดตามข่าวคราวจากหลายแห่ง จะพบได้ คือการแก้ไขระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการจัดโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม และการแบ่งส่วนราชการใหม่ การมี ก.พ.ร. (หน่วยงานด้านบริหารบุคคลกลางอีกหน่วยหนึ่ง) เกิดขึ้นตามมาจากการแก้ไขระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเชื่อว่าคงมีความมึนงง ระหว่าง ก.พ.ร.กับสำนักงาน ก.พ. พอสมควร ว่าใครทำอะไร และยังจะได้ยินอีกว่าในแต่ละกระทรวง มี "ก.พ.ร.เล็ก" ทุกกระทรวง 

การมี "พนักงานราชการ" เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2547 สิ่งที่น่าสนใจมาก คือ เป็นแนวคิดที่จะใช้การจ้างบริการภายนอก (Outsourcing) ในระบบราชการมากขึ้น การให้บุคคลที่อยู่ในภาคอื่น เข้ามาสู่ระบบราชการได้ และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การเลิกระบบ "ซี" หรือล้มกระดานระบบ PC เพราะว่าจะทำให้ภาคราชการมีการปฏิรูปแท้จริง การปฏิรูปราชการเท่าที่ผ่านมาจะคงชำนาญ และเชี่ยวชาญในเรื่องของกฎหมายเสียเป็นหลักใหญ่ เช่น แก้ไข พ.ร.บ.  ออกพ.ร.บ.ใหม่ ออกระเบียบใหม่

แต่หัวใจจริงๆ ของการปฏิรูปราชการอยู่ที่ "ระบบตำแหน่ง" (Position Classification) โดยเฉพาะระบบตำแหน่งแบบใหม่ ที่ภาคเอกชนใช้อยู่ เป็นเพราะว่า 

1) การกำหนดตำแหน่งหรือระดับ เช่น กลุ่มตำแหน่งบริหาร กลุ่มอำนวยการ กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ กลุ่มวิชาการ กลุ่มทักษะพิเศษ และกลุ่มทั่วไป เป็นการกำหนดตำแหน่งตามความสามารถของบุคคล 

2) การวัดผลงานหรือระบบจัดการผลงาน จะเป็นการวัดตามผลสำเร็จ หรือใช้ KPIs เป็นส่วนหนึ่ง ในการวัดผลสำเร็จกับการวัดความสามารถ (Competency Assessment) ในอีกมิติหนึ่ง 

3) ค่าตอบแทนหรือเงินเดือน-ค่าจ้าง จะจ่ายตามระบบตำแหน่งแบบใหม่ ที่เรียกว่า บรอดแบนด์ (Braodbanding) ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าระบบเงินเดือนที่มีอยู่โดยทั่วไป หากสามารถใช้ได้ถูกต้อง 

4) การพัฒนาบุคลากรจะเป็นไปตามสายทางก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ในกลุ่มตำแหน่งของตนเอง โดยไม่มีความจำเป็นต้องก้าวข้ามกลุ่มตำแหน่ง ยกเว้นในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหน้าที่ความรับผิดชอบไปสู่หน้าที่ด้านการบริหาร 

5) การจะได้บุคคลหรือทรัพยากรคน ที่เป็น "คนเก่ง" (Talent People) เข้ามาสู่ระบบราชการ เพราะจะอยู่ภาคไหนๆ ก็เหมือนกัน ถ้าใช้ระบบตำแหน่งแบบใหม่นี้ยกเว้นว่า ผู้บริหารระดับสูงสุดของระบบราชการมีแนวคิด และวิธีทำงานแบบเดิมถึงเปลี่ยนไปก็ไลฟ์บอย 

น่าสนใจจริงๆ ที่ภาคราชการมีผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นการปฏิรูประบบราชการ หากท่านผู้อ่านได้อ่านข้อสังเกตด้วยแล้ว ยิ่งน่าสนใจมากว่า เป็นการต่อสู้ทางแนวคิดของผู้บริหารในมิติของการบริหารคน จากศตวรรษที่ 20 กับศตวรรษที่ 21

ปล.ข้อเขียนนี้ผมเคยเขียนไว้ในช่วงที่ ระบบราชการคิดจะยกเลิก ซึ และขณะนี้ ได้เสนอความเห็นชอบผ่าน ครม.แล้วจึงคิดว่าขอนำมาเสนออีกครั้งเพราะสอดรับกันพอดี

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants


ชาติจะล่มจม ข้าราชการไทยทำอะไรอยู่

...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง"ตอนนี้ก็เกือบจะล่มจม"
แนะศาลปกครองเตรียมแก้ไขปัญหา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินคดียุบพรรค....

....ท่านมีความรับผิดชอบที่จะทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม หรือ ตักเตือนประชาชนที่ไม่มีความรู้ ให้เกิดความรู้
ขึ้นมาว่าบ้านเมืองควรที่จะไปทางไหน ท่านทำได้ ท่านพูดได้ ท่านคิดได้เพราะท่านมีความรู้
 จึงขอร้องให้ท่านยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่อไป เพราะว่าสถาการณ์ปีนี้ไม่ดีเลย....

...แต่คนทุกคนต้องสามารถที่จะคิด เพราะว่าหวงแหนบ้านเมือง ไม่อยากให้ล่มจม...

นั่นคือพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 24 พค.50 ที่ผ่านมา

คำถามคือ ข้าราชการไทยท่านมัวทำอะไรกันอยู่ ไม่คิดว่าจะกู้วิกฤต หรือ ช่วยพื้นฟูประเทศชาติ หรือ พอใจกับเศษเงินที่นักการเมืองในอดีตโยนให้ในการปรับเงินเดือน โบนัส โดยเฉพาะโบนัส 2-300,000 บาทต่อปี สำหรับข้าราชการระดับสูง ที่นำมาจากภาษีของประชาชน   ข้าราชการบางกลุ่มที่ทำตัวเป็น น้ำนิ่ง วางเฉย   และ เกรงกลัวอดีตนักการเมือง กับอำนาจเงินมากเสียกว่า กลัวการที่ประเทศชาติจะล่มจม

และยิ่งฟังพระราชดำรัสเมื่อวานแล้วรู้สึกว่า เป็นเพราะพระบารมีที่กว้างใหญ่ไพศาลจริง ๆ และใชคดีมากๆ ที่มีพระองค์ท่านทรงเมตตาดูแลประเทศไทย และประชาชนของพระองค์

  แต่ข้าราชการไทยนั้นนึกได้เพียงว่ามีข้าราชการในพระองค์ฯ  ข้าราชการทางศาล และเหล่าทหารกล้ากับผู้เสียสละใน 3 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น ที่ทำเพื่อประเทศไทย นอกนั้นยังสบายดีอยู่หรือ หรือไม่มีสำนึกอะไรเลย

จะนิยมไทยหรือจะไปสู่อินเตอร์

 สิ่งที่เป็นปัญหาของหลายๆ ประเทศคือ  คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน  มักจะกลัวว่าเมื่อมีการยอมรับและเปิดไปสู่โลกาภิวัฒน์มากๆ จะทำให้เกิดผลดังนี้        
     -การสูญเสียค่านิยม วัฒนธรรมหรือประเพณีอันดีงามของชาตินั้นๆ ไป       
     -ธุรกิจภายในประเทศจะไม่สามารถต่อสู้หรือแข่งขันกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติได้       
     -ภาษาประจำชาติจะถูกกลืนหรือละเลยไปสนใจแต่ภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์  หรือ Short Messages   

     
 ประเด็นเหล่านี้ผู้บริหารประเทศหรือผู้บริหารธุรกิจต้องให้ความสำคัญและความสนใจมากเป็นพิเศษ
        
ความจริงที่ 1 ของประเทศ

 ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเรื่องของการแข่งขัน หรือการเปิดรับให้มีธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเข้ามาลงทุนหรือค้าขายในบ้านเรา จำเป็นจะต้อง        
     # มีการปกป้องและคุ้มครองธุรกิจในประเทศให้สามารถแข่งขันและต่อสู้กับธุรกิจข้ามชาติได้  มิฉะนั้นธุรกิจในประเทศก็จะล้มหายไปจนกระทั่งไม่เหลือเลย 
     # ขณะเดียวกันก็ต้องมีสิ่งจูงใจให้ธุรกิจข้ามชาติสนใจที่จะก้าวเข้ามาลงทุน  แต่อยู่ในกรอบที่เป็นแบบ WIN-WIN 
     #   เรื่องของภาษาประจำชาติ ค่านิยม วัฒนธรรม  ผู้เขียนมีความเห็นว่า การบำรุงรักษาเป็นความจำเป็นแต่จะต้องไม่โอเวอร์จนกลายเป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญหรือพัฒนาการของประเทศ  มิฉะนั้นประเทศก็คงไม่สามารถออกไปแข่งขันในเวทีโลกที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาได้ 
     # ผู้เขียนเคยอ่านรายงานผลการจัดประชุมสัมมนา "ซีอีโอ ไอซีที ฟอรัม" โดยเนคเทค (อ้างจากประชาชาติธุรกิจ ฉ.วันจันทร์ที่ 16-พุธที่ 18 ธ.ค.45 หน้า 32) สรุปว่า 
     - อุปสรรคเรื่องความพร้อมของวิศวกรภาคไอทีที่ยังมีจำนวนน้อย  รวมทั้งมีความรู้ความสามารถในเชิงเทคนิคไม่เพียงพอต่อความต้องการ  รวมทั้งปัญหาการสื่อสารภาษาอังกฤษ 
     - ปัญหาด้านภาษาและความรู้พื้นฐานเชิงเทคนิคนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเบนความสนใจไปที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์แทน 
     - บทบาทของเนคเทคจะต้องหันไปมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์  เนคเทคควรมีวิธีคิดแนวใหม่ เช่น ควรผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนกับบริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติในการทำวิจัยพัฒนา  ไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะ การลงทุนตั้งโรงงานเท่านั้น 


 แสดงให้เห็นว่า  การพัฒนาให้คนในชาติ หรือธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกธุรกิจ  ในโลกยุคโลกาภิวัตน์จะคงมีหลายๆ สิ่งที่ประเทศไทยโดยเฉพาะภาครัฐบาลจะต้อง "คิดใหม่ ทบทวนใหม่"  อีกหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ "การนิยมไทยกับการจะไปสู่อินเตอร์" 

ความจริงที่ 2 ของประเทศเพื่อนบ้าน

 ข่าวคราวของการพัมนาประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะในวิธีการพัฒนาประเทศหรือ การแก้ไขในช่วงเศรษฐกิจวิกฤต  ซึ่งดำเนินนโยบายที่แตกต่างกับประเทศไทย  อินโดนีเซียและ เกาหลีใต้ก็คือ  มาเลเซียไม่ยอมรับการช่วยเหลือจาก IMF ทำให้มาเลเซียมีอิสระทางการเงิน มากกว่าและไม่ต้องออกกฎหมายเพื่อปกป้องนักลงทุนจากต่างชาติเท่ากับประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือจาก IMF 
 ขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียได้ประกาศนโยบายมาได้ หลาย ปีแล้วที่จะใช้ภาษาอังกฤษให้เป็นภาษากลางของประเทศ 
 ปัจจุบันมาเลเซียเอาจริงขึ้นไปอีกโดยเมื่อ ปี(2546)ที่ผ่านมาแล้ว ในการเรียนการสอนของระดับประถมศึกษา (1-6) 
 "….. จะต้องใช้ภาษาอังกฤษสอนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์…"
       ดร.มหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียกล่าวในขณะนั้นว่า  สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับการยอมรับในภาษาอังกฤษ  แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ทั้งหมดแต่อย่างน้อยที่สุด คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นกุญแจไขไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่  
           เราไม่มีทางเลือก  ซึ่งเราต้องทำการเปลี่ยนแปลง  เราต้องทำในสิ่งนี้เพราะว่าคนของเรายังมีการศึกษาไม่มากนัก  มิฉะนั้นนโยบายทั้งหมดของเราก็จะล้มเหลว 
           รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ  เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการสอนภาษากลางจากภาษา Bahasa Malaysia เมื่อ 1 ทศวรรษมาแล้ว 
 แม้ว่าเราจะเป็นชาตินิยม  แต่เราก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโดยหวังว่า โรงเรียนเปลี่ยนไปสอนภาษาอังกฤษก็จะนำเราไปสู่โรงเรียนระดับนานาชาติแล้วก็จะดึงดูดนักเรียนนานาชาติ ได้ด้วย  (อ้างจาก New Straits Times : Friday, October 11, 2002 P.2) 

           สุดท้ายแล้วจะมีการใช้ภาษาอังกฤษในมาตรฐานที่สูงขึ้นเพราะจะมีการสอน ทุกวิชาในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า  เรามีความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษ   
       NCWO (The National Council of Women Organizations) ให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดย   
      - เห็นว่าการใช้ภาษาอังกฤษในการสอนทั้ง 2 วิชา  ควรที่จะครอบคลุมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วย   
      - โรงเรียนทั้งหมดควรแลกเปลี่ยนหลักสูตรในวิชาที่มีการสอนเหมือนกัน  
(อ้างจาก New Strait Times : Thursday, October 3, 2002 P.2)   
       รัฐมนตรีด้านการศึกษาสรุปว่า  จะมีการอบรมครู 192,000 คนเพื่อสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษในช่วงระยะเวลา 6 ปี  โดยสิ้นปี'45 มีจำนวน  27,000 คน  ปี'46 มีจำนวน 46,000 คน  ปี'47 จำนวน 23,000 คน  ปี'48 จำนวน 38,000 คน   ปี;49 จำนวน 38,000 คนและปี'50 จำนวน 20,000 คน   
 โดยในปี'50 เมื่อมีการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เต็มระบบทุกระดับชั้น จะมีครูทั้ง 2 วิชาอย่างเพียงพอ   (อ้างจาก New Strait Times : Wednesday, October 23, 2002 P.9)

 สิ่งที่ผู้เขียนหยิบยกกรณีการปรับระบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษของประเทศมาเลเซียมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า  ในยุคของ IT และ โลกาภิวัตน์  ประสิทธิภาพของธุรกิจอยู่ที่รากฐานของการเรียนรู้ใน 2 วิชานี้และต้องเรียนแบบอินเตอร์ ธุรกิจจึงจะโกอินเตอร์  จะน่ากลัวมากเลยถ้าประเทศมาเลเซียทำสำเร็จในระยะเวลา ไม่เกิน 1 ทศวรรษนี้  

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

สอบเข้ามหาลัย ทำไมต้องฆ่าตัวตาย..เยาวชนที่รัก

ความจริงระบบ"แอดมิชชั่น" หรือสอบเข้ามหา'ลัย ขอเรียกแบบนี้แล้วกันนะครับ  เมื่อมีการประกาศผลทีไร
เป็นธรรมดาที่ต้องมีผู้ผิดหวังและเสียใจ จะด้วยเหตุใดก็ตาม  แต่ละมหา'ลัยก็รับได้ตามงบประมาณที่
มีเท่านั้น ขณะที่เด็กนักเรียน จบจริง ๆ แล้วผู้ที่เหนื่อยยากคือผู้ปกครองต้องวิ่งหาที่เรียนให้ลูกหรือ เตรียมเผื่อพลาดกันทั้งนั้น

อย่างไร ปีนี้มีอะไรที่น่าสนใจ คือ 
-คนที่สอบได้ที่ 1 ของประเทศเลือกเรียน นิติศาสตร์ เพราะแรงบันดาลใจที่คุณพ่อเป็นตุลาการ และอยากเข้า
มาช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมือง

-มีเด็กฆ่าตัวตายจากการพลาดหวังในระบบกลางการรับ นิสิต นักศึกษา หรือ แอดมิชชั่น
กรณีนายจิรัตน์ฐากร สุขเกษมพงษ์ อายุ 19 ปี  นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนสามัคคีวิทยา
 ใช้เข็มขัดผูกคอตายภายในบ้านพักเลขที่ 248 หมู่ 2 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
 สาเหตุเพราะผิดหวังที่สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้ แม้จะสอบติดคณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเลือกไว้เป็นอับดับ 2 และครอบครัวโจมตีระบบเอเน็ต และ โอเน็ต

ผมคิดว่าน่าสนใจก็เพราะว่า
1.ในกรณีแรกค่านิยมที่จะต้องเรียนหมอ และ วิศวะ อาจจะดูว่า ลดลง เพราะอาชีพ ทางด้านกฎหมายในปัจจุบันได้รับการยอมรับมาก  และช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองให้พ้นทางตันมาได้หลายเรื่อง ยกเว้น พวกที่ขายวิชาชีพรับใช้เงินเป็นประดุจดังพระเจ้า 
2.แต่พอพบข่าวที่ 2ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวสุขเกษมพงษ์ด้วย  ในเรื่องดังกล่าวกับกลายเป็นว่าค่านิยม
ในบาง คณะ บาง มหา'ลัย ก็ยังคงดำรงอยู่

ผมอยากฝากเป็นทัศนะว่า ปัจจุบันนี้ มหา'ลัย ไม่ได้แตกต่างกันมากนักในประเทศถ้าเป็นการเรียนการสอน
ด้วยภาษาไทย เพราะเมื่อจบไปแล้ว เราต่างหากที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
และเราต่างหากที่ขีดเขียนชีวิตเราเอง มหา'ลัย ไม่ได้ให้ทุกอย่างกับชีวิตเราหรอกครับ

มหา'ลัย ชีวิตมีบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ให้เราได้เรียนรู้และค้นหาความจริง และหากเราค้นพบตัวตนเราได้ 
นั่นคือความสำเร็จที่สูงค่ายิ่งกว่าใบปริญญาไม่ว่าจะเป็นระดับการศึกษาสูงสุดเพียงใดก็ตาม

เยาวชนที่รัก ชีวิตนี้มีค่านัก จะใช้ชีวิตอย่างไรให้คุ้มค่า คิด ๆๆ คิดให้มากอีกหน่อย

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

การศึกษาแบบ Stupid Choice

ความจริงเรื่องของการศึกษาโดยเฉพาะในยุคปฏิรูปการศึกษา  เราทุกคนต่างสนใจกันทั้งนั้น  ทั้งนี้เพราะว่าเป็นสิ่งใกล้ตัว  อาทิ         
  - อาจจะมีลูก-หลาน-พี่-น้อง เรียนหนังสืออยู่       
  - อาจจะมีเพื่อนเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่       
  - ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือในสถาบันการศึกษา       
 กระแสความสนใจของประชาชนอย่างพวกเราไม่ได้สนใจหรอบครับว่า  ใครจะเป็น เสนาบดีว่าการด้านการศึกษา  แต่สิ่งที่สนใจมากกว่านั้นคือ         
 (1)  ทำไมคนส่วนใหญ่จึงคิดว่า  การปฏิรูปการศึกษาที่ไปได้ล่าช้าหรือไม่ค่อยประสบความสำเร็จเป็นเพราะครูหรืออาจารย์ที่สอน  หรือวิธีการสอนของครู        
 (2)  ผู้เขียนอยากให้มองในมิติด้านอื่นของการปฏิรูปการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา เช่น          
  มี พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่      
  มีองค์กรทางการศึกษาเกิดขึ้นใหม่ตามกฏหมายการศึกษา      
  และความสำเร็จสุดท้ายคือ การวางกลยุทธทางการตลาดโดยเฉพาะ
หยิบยกการประชาสัมพันธ์โรงเรียนบางโรงเรียนที่เชื่อและทำตามหลักสูตรที่มีการปฏิรูปใหม่   
  
  
 แต่ยังไม่มีใครหยิบประเด็นต่อไปนี้มาพูดหรือหาทางแก้ไข  หรืออาจจะพูดไม่ดังเท่ากับ สื่อและเอกสารที่เผยแพร่ออกมาจากองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านการปฏิรูปการศึกษา   จึงเกิดปัญหาทางการศึกษาในประเด็นต่อไปนี้  
 วิธีคิดของนักการศึกษาหรือผู้ที่ไปทำวิจัยการศึกษามาทั่วโลกแล้วนำผลการวิจัย เหล่านั้นมาปฏิรูปการศึกษา  ซึ่งอาจจะเกิดสิ่งต่อไปนี้   
  - เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่  ทั้งนี้สิ่งที่เกิดปัญหาและเห็นได้ชัดคือ  วิธีการเรียน การสอนตามหลักสูตรปฏิรูปต่อไปนี้   

ตัวอย่าง การแก้สมการของนักเรียนยุคปฏิรูป
 โจทย์ ถ้า X + 3  =  8 ; X จะมีค่าเป็นเท่าใด 
  ก.  X  =  0
  ข.  X  =  3
  ค.  X  =  5
  ง.  X  =  -5
 วิธีคิดของเด็กยุคปฏิวัติ  (เพื่อนผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนมัธยมโรงเรียน 
 ประจำจังหวัดแห่งหนึ่งเรียกว่า "Stupid Choice") 
       จะใช้วิธีการคิดโดยการนำคำตอบแต่ละข้อเข้าไปแทนค่า X ในสมการ 
       ดังนั้นจึงเป็นการแก้สมการแบบ "กล่อง"                    
        ถ้า                 X    + 3  =  8     คำตอบในข้อ ค. ที่เอา 5 เข้าไป แทน  X
 ก็จะได้คำตอบที่ 5 + 3  =  8 
 ปัญหาที่เกิดขึ้นจะโทษครูผู้สอน หรืออาจารย์ที่สอนก็ไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหามาจาก   
โรงเรียนให้นักเรียนมีชั่วโมงเรียนมากเกินไป เช่น วันละ 7-8 ชั่วโมง 
       เมื่อนักเรียนมีชั่วโมงเรียนมากในแต่ละวันทำให้ครูผู้สอนไม่มีเวลาใกล้ชิดกับ นักเรียน  จึงให้การบ้าน (Homework) มากๆ เพื่อให้เด็กเกิดทักษะ  
      แต่นักเรียนทำไม่ได้เพราะยังไม่เข้าใจจากขั้นเรียนจึงไปเรียนพิเศษ  ซึ่งอาจจะเป็นอาจารย์/ครูที่สอนมาเปิดสอนกวดวิชา  
      ดังนั้นอาจารย์/ครูที่ "วิก" หรือ "โรงเรียนกวดวิชา"  จะสอนวิธีคิดแบบ "Stupid Choice" ให้กับเด็กนักเรียนโดยใช้วิธีตัดตัวเลือกที่ผิดออกไป  และได้คำตอบที่ถูก จากตัวเลือกที่เป็นไปได้  
 ผลคือ  สามารถทำข้อสอบหรือโจทย์ได้เร็วขึ้น  นักเรียนชอบเพราะเป็นวิธีคิดที่รวดเร็ว 


 ทั้งหมดนี้เป็นการสนองตอบใคร  คำตอบที่ไม่ต้องไปวิจัยเชิงลึกคือ 
      เด็กนักเรียนสามารถเรียนโดยไม่ต้องมีหลักการหรือแนวคิดในเรื่องนี้  แต่ทำข้อสอบได้โดยวิธีคิดแบบ "Stupid Choice"       สนองตอบผู้ปกครองหรือพ่อแม่ที่คาดหวังว่าลูกต้องกวดวิชาแล้วมีเทคนิคพิเศษ ทำข้อสอบได้คะแนนดีๆ เมื่อไปสอบแข่งขันหรือเอ็นทรานซ์จะสอบเข้าได้  

 นี่ล่ะครับ!  สิ่งใหม่ที่เกิดในระบบปฏิรูปการศึกษา  เป็นการเรียนเพื่อทำข้อสอบให้ได้และเรียนต่อ  แต่จะรู้จริงมากน้อยแค่ไหนไม่รู้  

    สำหรับการศึกษาในมิติใหม่  เราไม่ต้องการให้เด็กเพียงแค่มุ่งเรียนต่อ  แต่เราต้องการ มากกว่านั้นคือ การมีวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ คิดเชิงอนาคตที่จะก้าวสู่การเป็นนักนวัตกร มีความซาบซึ้งเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมและโดยเฉพาะความแตกฉานในพุทธศาสนาจนสามารถ   นำหลักธรรมอันยิ่งใหญ่ในพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในการทำงานจนเห็นได้อย่างทะลุแจ้งแทงตลอดถึงธรรมชาติของสรรพสิ่ง  เข้าใจตัวตนในตนเองจะได้ไม่หลงไปกับ      
การโฆษณาชวนเชื่อในลัทธิและนิกายหรือไสยศาสตร์ที่แวดล้อมในทุกสัมผัส
    


 สุดท้ายแล้วเราคงได้เห็นความเป็นไทย และคนไทยธุรกิจไทยจะได้ล่องลอยไปตามฝันสู่ความสำเร็จในเวทีโลกตามที่รัฐบาลได้พยายามวาดฝันเอาไว้  โดยที่เราท่านสามารถชักหน้าได้ถึงหลัง      

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

องค์กรรัฐวิสาหกิจมีกี่ชั้นเลิศ

ยามที่ประเทศพบกับวิกฤติน้ำมันที่มีราคาแพงมาก  แต่ในขณะเดียวกันประชาชนคนไทยคงปลื้มปิติมากกับการที่ธุรกิจน้ำมันของชาติได้เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทน้ำมันที่กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีผู้ถือหุ้นนานาชาติได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Business Week ให้เป็นบริษัทชั้นนำของเอเซีย
ถ้าธุรกิจน้ำมันดังกล่าวเจริญเติบโตและสร้างความสมดุลด้านพลังงานให้กับประเทศชาติได้  คงจะน่ายินดีสำหรับคนไทยทุกคน


ประเด็นที่ฮิตในปัจจุบันคือ  หากรัฐบาลสามารถใช้กลไกของธุรกิจที่รัฐบาลดูแลอยู่ไปสร้างความร่ำรวยให้คนระดับล่างของประเทศออกไปแข่งขันในเวทีโลกได้  ประเทศไทยที่มีประชากรแค่ 63 ล้านคน  ส่วนแบ่งตลาดโลกไม่ถึง 10% (น่าจะเลขตัวเดียวเสียมากกว่า) น่าจะแข่งขันได้ดีกว่าไปผลักดัน OTOP สู่เวทีโลกหรือไม่ เพราะกว่าจะมี OTOP รอดตายไปสู่เวทีโลกได้คงต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก  ผลได้อาจจะเท่ากับงบโฆษณาของบางบริษัทชั้นดีที่ออกโฆษณาตามหน้าหนังสือหรือทีวีว่าได้รับการจัดอันดับให้เป็นธุรกิจชั้นเลิศ


องค์กรรัฐวิสาหกิจมีกี่ชั้นด้วยกัน
ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้หน่วยงานของรัฐทันสมัยมาก  มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันค่อนข้างมากเพื่อให้รู้ว่าได้นำงบประมาณจากภาษีของประชาชนเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง  คุ้มหรือไม่คุ้มกับภาษี และประชาชนคงไม่ได้คิดว่าจะจ่ายภาษีเพื่อบางคน บางกลุ่มให้นำไปใช้ตามสิ่งที่ตนเองคิดและเพื่อมิตรสหายหรือผองเพื่อนพี่น้องแห่งตน  แต่น่าจะใช้สำหรับพัฒนาประเทศเพื่อคนไทยที่มีจิตใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทุกคน


การศึกษาวิเคราะห์สำหรับองค์กรสมัยใหม่ในปัจจุบันมีการทำและศึกษากันอย่างกว้างขวางมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น
- การศึกษาในบริษัทที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่เน้นกิจกรรมทางการตลาดสูงกลับพบว่า  ไม่ได้มีความสามารถที่เก่งกาจในเรื่องจัดการคนเท่าไหร่นัก
- องค์กรที่เป็นหลักของประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจหรือการเงินของประเทศจะมีการพัฒนาและวางรากฐานด้านคนไว้ค่อนข้างดี  แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปสู่กิจกรรมที่เน้นการตลาดมากขึ้นกลับลดบทบาทการพัฒนาและการส่งเสริมสร้างสติปัญญาให้กับบุคลากรในองค์กร (ดูได้จากการลดบทบาทของหน่วยงานพัฒนาคนให้มีขนาดเล็กลง)
- องค์การรัฐวิสาหกิจที่เดินตามแนวคิดของธุรกิจเอกชนในเรื่องการใช้หน่วยบริการภายนอก (Outsourcing)  จะใช้วิธีการลดคนเพื่อว่าจ้างหรือแตกหน่วยงานออกไปเป็นบริษัทเข้ามารับจ้างบริการดังกล่าว  ซึ่งรูปแบบนี้ทำให้ประสิทธิภาพลดลงโดยเฉพาะการดำเนินการกับหน่วยงานที่เป็นกิจกรรมหลักของธุรกิจ  หรือดำเนินการดังกล่าวทำเหมือนเอกชนไม่ได้  เพราะเอกชนเป็นกลุ่มบริษัทหรือเครือกิจการ  ซึ่งสามารถยุบงานที่เหมือนกันไปตั้งเป็นหน่วยงานกลางให้บริการทั้งหมด  หรือเป็นบริษัทจ้างเหมาบริการได้
- องค์กรรัฐวิสาหกิจถูกเงื่อนไขต้องถูกประเมินจากหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ  เพราะมิฉะนั้นจะไม่ได้มีโอกาสจัดอันดับเป็นหน่วยงานชั้นดี  ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ผลตอบแทนตามไปด้วย หลายๆ หน่วยงานดังกล่าวจึงใช้วิธีการลัดคือไปจ้างบริษัทที่เป็นผู้ประเมินมาวางระบบหรือสิ่งที่จะประเมินเมื่อถูกประเมิน  ผลการประเมินจะได้ดีซึ่งก็น่าเคลือบแคลงและคิดถึงความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง  รวมถึงจริงๆ แล้วกิจการนั้นๆ ดีจริงหรือเปล่า
 ประชาชนหรือผู้ใช้บริการจะรู้สึกขัดแย้งมากระหว่าง “การสร้างภาพ” กับ “การทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐในการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นตามภารกิจหรือหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ”
 แต่สิ่งที่ขัดแย้งเป็นอย่างยิ่งคือ  การบริการของรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการพื้นฐานกลับไม่ได้ดีตามนั้น


Big Story ขององค์กรรัฐวิสาหกิจ
 ผู้เขียนมักจะมีโอกาสได้ติดต่อหรือใช้บริการของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะที่เป็นบริการพื้นฐานของประเทศ  แต่สิ่งที่ได้รับมักไม่สมราคาคุย
 เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า  ในการที่ผู้เขียนเข้าไปให้บริการในรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง  ผู้เขียนพบเกี่ยวกับระบบบัญชีการเงินเป็นยิ่งกว่าระบบราชการเสียอีกทั้งๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
- Invoice จะผิดหรือจะถูกก็ไม่มีการแจ้งให้ทราบ  เมื่อทวงถามเข้าไปก็บอกว่ารายการผิดต้องแก้ไขใหม่ทำให้เสียเวลาเป็นสัปดาห์และก็เป็นอย่างนี้ 2-3 ครั้ง
- อะไรที่ตกลงกับฝ่ายเจ้าของงานเมื่อผ่านไปถึงทางฝ่ายบัญชีการเงินก็จะบอกเพียงว่า  หลักเกณฑ์เป็นอย่างนี้ที่ตกลงกับฝ่ายเจ้าของงานเค้าไม่รับรู้ด้วย  ก็ต้องกลับมาแก้ไขใหม่ให้เป็นไปตามที่ฝ่ายบัญชีการเงินกำหนดหลักเกณฑ์ไว้
ผู้เขียนไม่เข้าใจว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงจากรัฐวิสาหกิจกลายร่างเป็นบริษัทจำกัดแล้ว  ทำไมหลักเกณฑ์จึงยังเป็นราชการหมื่นเปอร์เซ็นต์อีก
นี่ขนาดเป็นบริษัทจำกัดแล้วนะครับ! ถ้าแปรรูปเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประชาชนหรือผู้ติดต่อจะได้คุณค่าอะไรนอกจากการเพิ่มค่าบริการทุกๆ ปี


สิ่งนี้เป็นชะตากรรมของคนไทยครับ?  เราจะไปหวังพึ่งใครได้  บางทีก็นึกอิจฉาประเทศอื่นๆ และธุรกิจในเอเชียที่เจริญเติบโต  ชีวิตของประชาชนเค้าดีขึ้น  ขณะที่คนไทยเรามีชีวิตที่ต้องอยู่กับสังคมบริโภคนิยม  สังคมสุขนิยม ไม่มีโอกาสและทางเลือกในชีวิตมากนัก  ความห่างทางสังคมก็ห่างขึ้นทุกวัน
ในเมื่อองค์กรรัฐวิสาหกิจมีดีชั้นเลิศได้ไม่กี่แห่ง  ที่เหลือก็สมควรขายทิ้งให้หมดเรื่องไปดีไหมครับ!  เพราะไหนๆ ก็แพงทุกอย่างอยู่แล้วมีหรือไม่มีชีวิตเราๆ ท่านก็คงไม่ต่างจากเดิมมากนัก

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

“การศึกษา” เวทีนี้ต้องมืออาชีพเท่านั้น!

ยามที่ประเทศชาติอยู่ในสภาพที่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอ่อนแอ และโดยเฉพาะภาคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงสูงลง  นักวิชาการและผู้ที่มีความรู้ในสังคมมักจะให้ทัศนะหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยในทิศทางที่ว่า


# การเมืองของเราหากเดินไปสู่ทิศทางของการมีเสียงสนับสนุนในภาครัฐบาลแบบรัฐบาลพรรคเดียวน่าจะทำให้เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองตลอดจนการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมั่นคงเติบโตในระยะยาว
#  ผู้คุมนโยบายเป็นใครก็ได้ที่มีฐานการเมืองสนับสนุน  เพราะเพียงแต่ฝ่ายปฏิบัติหรือหน่วยงานภาครัฐสนองหรือทำตามนโยบายกระทรวง ทบวง กรม ก็จะเดินหน้าได้แล้ว
#  หากได้มาซึ่งนักธุรกิจเข้ามาบริหารประเทศชาติ  คงทำให้ประเทศชาติพัฒนาและแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าคนของภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ  เพราะอะไรก็ตามที่ภาครัฐเข้าไปเป็นผู้จัดทำจะพบว่าส่วนใหญ่กิจการขาดทุนหรือล้มละลาย หนี้สินเป็นนับพันทวี


5 ปี’ผ่านมา ยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริงเพราะน่าจะถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวของประเทศไทยที่ได้มีนักธุรกิจเข้ามาบริหารบ้านเมือง   การปฏิรูประบบราชการที่น่าจะก้าวไปสู่ทิศทางที่ดีได้กลับเป็นตรงกันข้าม มีแต่พรรคพวกเข้ามาหาประโยชน์   และอีกหลายๆ อย่างซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเป็นการถาวรในอีก 4 ปีข้างหน้าหากการเลือกตั้งยังเป็นคนเดิม ๆ แต่เสื้อใหม่


แต่ สิ่งที่ปรากฏในระยะเวลาสั้นๆ ของเดือน พค.50 ที่มีการประกาศผลโอเน็ต   ผู้เขียนเริ่มรู้สึกเหมือนคนไทยทั้งประเทศว่า  กังวลในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหรือเริ่มมีปรากฏให้เห็นแล้วว่า  “เรื่องใหญ่ที่สุดแต่อาจจะเป็นเรื่องช้าที่สุดคือ การศึกษาของชาติ” 

เพราะ 5-6 ปีที่ผ่านมาภายใต้นโยบายด้านการศึกษาแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือบ่งบอกได้เลยว่า 

การศึกษาจะก้าวขึ้นมาเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประเทศไทยมี “ทุนทางปัญญา” (IC: Intellectual Capital) ที่ดีกว่า  หรือนำไปสร้างนวัตกรรมที่ทำให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างจริงๆ จังๆ เสียที  จะเห็นมีก็แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ กับอุปกรณ์การเรียนเท่านั้น
เมื่อ ไม่นานนัก รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้  ได้เคยรายงานผลการศึกษาในระยะ 6 เดือนของปี’2547 พบว่า
“การศึกษายังไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการสร้างความรู้ได้อย่างแท้จริง
คุณภาพงานที่สร้างสรรค์ไม่โดดเด่น  การเห็นแก่ส่วนรวมและรักษ์ความเป็นไทยก็ยังมีน้อยมาก  การรู้เรื่องสารสนเทศยังอยู่ในระดับต่ำและการใช้เทคโนโลยีมีน้อยมาก
อุปสรรคสำคัญคือ ระบบการศึกษาไทยยังมีลักษณะเป็นการศึกษารูปแบบเดียวเหมือนโรงานอุตสาหกรรมรุ่นเก่าที่ปั๊มคนออกมาให้ได้”

น่าตกตะลึง กับผลโอเน็ต

 สถิติคะแนนสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) (กุมภาพันธ์ 2550)

วิชาภาษาไทย คะแนนเฉลี่ย 50.33   มีผู้เข้าสอบ 313,147 คน

วิชาสังคมศึกษา คะแนนเฉลี่ย 37.94  มีผู้เข้าสอบ 314,481 คน

วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเฉลี่ย 32.37 มีผู้เข้าสอบ 314,383 คน

วิชาคณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 29.36 มีผู้เข้าสอบ 314,094 คน

วิชาวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 34.88 มีผู้เข้าสอบ 313,070 คน

โดยรวมก็ไม่ต่างจากปี 2549 เท่าไรนักคือตกพอ ๆ กันในทุกวิชา

เป็นอย่างไรครับท่านผู้อ่าน!  ทั้งคะแนน โอเน็ต และผลการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาของไทยที่ “อนาคตอยู่ในมือคุณ”
คนไทยเราได้มีโอกาสที่ดีหลายๆ อย่างแต่ด้านการศึกษาต้องจัดการแบบมืออาชีพ  (ไม่ใช่มาบอกว่าคะแนนไม่ดีเพราะเด็กไม่ตั้งใจทำข้อสอบ ทั้ง ๆ ที่อย่าบอกใครนะครับ เจ้าข้อสอบโอเน็ตที่ว่านี่เทียบแล้ว ง่ายกว่า สอบเข้ามหา'ลัย หลายสิบเท่า)

ผู้เขียนอยากจะขอนำตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้  ซึ่งจัดการศึกษาแบบเรียกได้ว่าเป็น “มืออาชีพของแท้” มาเล่าสู่กันฟัง
ประการแรก  พาราไดม์การเติบโตในปัจจุบันไม่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจแห่งความรู้ (KBE: Knowledge Based Economy)  เพราะว่า พาราไดม์ในปัจจุบัน เช่น การสะสมทุนมีจุดมุ่งคือ ทุนเบื้องต้นด้านวัสดุอุปกรณ์  ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคล  จุดมุ่งคือ แรงงาน  และส่วนนำของประเทศคือรัฐบาล  ซึ่งหากมีพาราไดม์แบบนี้จะไม่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจแห่งความรู้และโดยเฉพาะในโลกาภิวัตน์และการปฏิบัติด้าน IT
……สิ่งที่เป็นพาราไดม์ในอนาคตที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการคือ การสะสมทุนด้านทุนมนุษย์  ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคลที่สำคัญคือ ความรู้ และส่วนนำของประเทศคือ มหา’ลัยและธุรกิจ
เกาหลีใต้มีการพัฒนาเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบันได้มุ่งที่ R & D ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงระดับกลาง เช่น อิเลคทรอนิกส์ รถยนต์ เครื่องจักร และการสร้างสิ่งที่คงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันที่สูง  แต่เมื่อได้กำหนดพาราไดม์อนาคตใหม่จึงเริ่มต้นที่จะเพิ่มขึ้นในกลยุทธด้านการลงทุนในระดับชาติด้านเทคโนโลยีใหม่ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT)  ไบโอเทค (BT) นาโนเทค (NT)


ประการสำคัญ  พื้นฐานโครงสร้างของนโยบายพัฒนาทุนมนุษย์ของเกาหลีใต้  จึงมีการกำหนดใหม่ให้สามารถนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจแห่งความรู้ได้อย่างแท้จริง


กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเกาหลีใต้จึงได้จัดวางพื้นฐานโครงสร้างของนโยบาย  ในส่วนของ “วิสัยทัศน์และกลยุทธ”  “ขอบเขตของงาน”  รวมถึง “กลยุทธหลัก” ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะกลายเป็น “ทุนมนุษย์” ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
โดยมี “ขอบเขตและงาน” ที่สำคัญใน 4 ด้านซึ่งประกอบด้วย
- การพัฒนาความสามารถในงานสำคัญสำหรับคนเกาหลีทั้งหมด
- ทำให้ความรู้และคนเป็นสิ่งผลักดันสำหรับการเติบโต
- ยกระดับของการใช้ประโยชน์และการจัดการคน
- การสร้างโครงข่ายพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคน
ส่วน “กลยุทธหลัก” ที่สำคัญจะประกอบด้วย
- กลยุทธระบบเปิดและเครือข่าย
- กลยุทธการปรับสู่ยุคสารสนเทศ
- กลยุทธการลดเกณฑ์และความเป็นอิสระที่สูงมาก
- กลยุทธจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนมากที่สุด โดยเฉพาะผู้หญิง (เนื่องจากในปัจจุบันมีส่วนร่วมน้อย)

ทั้งหมดนี้เราเริ่มเห็นความสำคัญค่อยๆ ชัดขึ้นของประเทศเกาหลีใต้ในเวทีโลกหรือจะเห็นยักษ์ใหญ่ เช่น ซัมซุง  แอลจี...นี่ล่ะครับ! ถึงเรียกว่า การจัดการศึกษาเวทีนี้ไม่ใช่ใครก็ได้  แต่ต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้นครับ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants


ยุทธศาสตร์พลังงานในประเทศร่ำรวย

ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีมูลค่า เช่น น้ำมัน เพชร ทอง หรือแร่ธาตุต่างๆ แม้กระทั่งน้ำ  ต้องนับว่าเป็นความได้เปรียบที่มิอาจจะอธิบายได้ในเวลาสั้นๆ


  เมื่อประเทศไทยเกิดวิกฤติค่าเงินบาทเนื่องจากการโจมตีค่าเงินของพวกกองทุนการเงินข้ามชาติ (Hedge Fund) หรือพ่อค้าโจรเสื้อนอก (Robber Baron)  วงจรดังกล่าวก็ยังวนเวียนกลับมาที่บ้านเราอยู่ไม่ขาดสาย ซึ่งอาจจะมีคนทีมีเชื้อชาติไทยแต่ทำตัวแบบต่างชาติด้วย

ปัจจุบัน “น้ำมัน” ก็มีสภาพเดียวกับเรื่องของค่าเงินบาท  แต่คนที่เกี่ยวกับค่าเงินจะมีแต่สถาบันการเงินกับบริษัทข้ามชาติและบริษัทที่นำเข้า-ส่งออก จึงจะได้ประโยชน์ในเรื่องค่าเงิน  ในขณะที่ผู้ได้ประโยชน์จากการเก็งกำไร “น้ำมัน” ก็คงมีแต่คนที่ทำธุรกิจน้ำมันกับเฮจด์ ฟันด์ เท่านั้นจริงๆ


  สำหรับประเทศไทยจะไปรอดตลอดปี’50 หรือไม่คงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ  ซึ่งหากพิจารณาสิ่งที่รัฐบาลดำเนินมาตรการในระยะสั้นถ้าสำเร็จคือการทุ่มเงินให้ราก ๆๆ ติดดินกู้แล้วเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก ก็จะทำให้เราคนไทยรอดไปถึงปี’51 ก็อีกเพียง 7 เดือนเท่านั้นครับ


  พูดถึง “พลังงาน” ต้องถือว่าเป็นปัจจัยยุทธศาสตร์ในระดับโลก
  ใน พ.ศ.นี้เราคงต้องยอมรับกันว่า  การที่จีนและอินเดียมีความร่ำรวยจากการมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทำให้ทั้ง 2 ประเทศพลิกก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียในระยะเวลาที่ไม่กี่ชั่วน้ำเดือด
1. ทั้ง 2 ประเทศต่างก็เลียนแบบชาติมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกาที่ใช้วิธีการ
วิธีการซื้อน้ำมันเข้ามาจากความร่ำรวยที่มีอยู่  แต่เป็นการซื้อในวัตถุประสงค์คือ เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นประการแรก  โดยไม่ต้องไปขุดเจาะหรือใช้แหล่งพลังงานของตนเอง  ขณะเดียวกันก็ซื้อไปกักตุนไว้ด้วยเพราะในอนาคตใครจะไปรู้  ประเทศที่มีน้ำมันอาจจะเปลี่ยนจากตะวันออกกลางไปสู่เอเชียและอเมริกาก็ได้
  2.  การดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการควบรวมกิจการ (M&A : Merger and Acqui-sition) เช่น บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับสามของจีนประกาศซื้อกิจการน้ำมันของยูโนเแคล  ซึ่งถือเป็นการควบรวมกิจการที่ฮือฮามากว่าจะทำสำเร็จได้หรือไม่
  ประเด็นที่น่าสนใจคือ   ยามใดที่บริษัทสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทประเทศใดในโลก  สิ่งนี้จะเรียกว่าเป็นการลงทุน  แต่ในกรณีของจีนถือเป็นเรื่องการเมือง 

  3.  ประเด็นใหม่คือ  ญี่ปุ่นเองก็พยายามให้อาเซียนกักตุนปริมาณน้ำมันสำรองเพื่อป้องกันวิกฤตราคาน้ำมัน  แต่ไม่ค่อยเป็นผลเท่าไหร่นักเพราะมาเลเซียและอินโดนีเซียสามารถผลิตน้ำมันรวมกันได้วันละ 2.5 ล้านบาร์เรลซึ่งเกินความต้องการใช้ทั้งอาเซียมากกว่า 50%
  ประเทศร่ำรวยมียุทธศาสตร์ด้านพลังงานอย่างไร
  สิ่งที่ผู้เขียนยกมาเป็นข้อเสนอเชิงประเด็นถกเถียงข้างต้น  เป็นสิ่งที่เกิดมานานแล้วในสหรัฐอเมริกา หมายความว่า
  สหรัฐอเมริกาจะใช้นำมันที่ตนมีเฉพาะในกรณีหน้าหนาวหรือกรณีที่น้ำมันจากแหล่งผลิตน้ำมันของโลกมีราคาแพง  จึงนำน้ำมันที่สำรองไว้ขึ้นมาใช้เพื่อกดราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ให้แพงเกินไป  นอกจากนั้นก็จะซื้อใช้อย่างเดียว
  แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ถ้าท่านผู้อ่านได้มีโอกาสไปต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา  ในเวลาค่ำคืนเมื่อมองจากฟากฟ้าหากบินจากเอเซีย (ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ฯลฯ ไปฝั่งแอลเอ (Los Angeles) ท่านจะเห็นแสงไฟฟ้าสว่างไสวราวกับกลางวันและแทบจะไม่มีที่ว่างให้ท่านเห็นความมืดได้เลย


  ผู้เขียนเคยไปย่ำที่ LA และ Sanfrancisco พบว่าชีวิตความเป็นอยู่ของอเมริกันชนนั้น
1) ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านค้าทั่วไป  เชื่อหรือไม่ว่าจะปิดทำการการเวลา
21.00 น.หรือ 3 ทุ่มในบ้านเรา  แทบจะทุกร้านจะมีเปิดก็เฉพาะร้าน 7-11  โรงแรม ฟู้ดเซ็นเตอร์บางแห่งหรือพวกบาร์และไนต์คลับแต่ไม่มาก
2) เมื่อร้านค้าปิดที่ 3 ทุ่มในสหรัฐอเมริกา  ก็หมายความว่าผู้คนหรืออเมริกันชน
แบบชาวบ้านร้านตลาดก็จะอยู่ในบ้านหรือกลับถึงบ้านอยู่กับครอบครัว  ไม่ไปไหนมาไหน  ซึ่งจะทำให้คนอเมริกันไม่ใช้ชีวิตแบบบริโภคนิยมตลอด 24 ชั่วโมงหรือไม่มีเวลาหลับแบบประเทศกำลังพัฒนาทางเอเซีย
  สิ่งที่เป็นผลที่ตามมาและเป็นคุณค่ามหาศาลด้านพลังงานของประเทศคือ
#  เป็นการประหยัดพลังงานที่ได้ผลเป็นอย่างมาก  เพราะธุรกิจ ห้างร้าน ปิดกันที่ 3 ทุ่มกว่าจะเปิดร้านอีกทีก็ 9 โมงเช้าหรือ 10 โมง โดยเฉพาะบรรดาห้างสรรพสินค้า  ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่าประหยัดพลังงานไปได้วันละอย่างน้อย 12 ชั่วโมง
#  สิ่งที่มีผลทางสังคมคือ  เรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ การชิงทรัพย์หรือมีปัญหาทางสังคมในยามค่ำคืนก็ลดน้อยลงไปด้วย
#  แต่ในกรณีของเมืองลาสเวกัส ซึ่งเป็นศูนย์รวมความบันเทิง (การพนันและโชว์ต่างๆ) จะเปิด 24 ชั่วโมงเพราะคุ้มค่ากับเป็นแหล่งดูดเงินจากคนทั้งโลก

ทั้งหมดนี้จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย   ต้องถือว่าเป็นการวางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่แหลมคมมาก  ซึ่งจะแตกต่างไปจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมียุทธศาสตร์ด้านพลังงานแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เช่น

#  การขอร้องหรือทุ่มโฆษณาให้ช่วยกันประหยัดพลังงาน  ซึ่งจะได้ผลในระยะสั้น  แต่ระยะยาวไม่แน่ใจ  

#  การกำหนดปิดไฟหรือปิดบางช่วงกิจการบางประเภทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักที่บริโภคพลังงานสูงๆ  ทั้งนี้เพราะเป็นสิ่งที่ทำแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย


#  ยุทธศาสตร์ด้านพลังงานอะไรที่กระทบกับธุรกิจหรือผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจวาสนาในประเทศกำลังพัฒนาก็จะหลีกเลี่ยงไปดำเนินการแบบอ่อนๆ  แต่ถ้ากระทบกับผู้บริโภคโดยตรงก็จะทำทันที เช่น ขึ้นราคาน้ำมัน ขึ้นราคาสินค้า


  ฉะนั้นแทบจะไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่ร่ำรวยกลับใช้พลังงานที่ประหยัดกว่าหรือคุ้มค่ากว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือยากจน  ทำไมโลกนี้จึงเป็นความแตกต่างที่ดูจะถ่างช่องว่างของความรวยและความจนให้มากยิ่งขึ้นทุกทีทุกที  สุดท้ายคนจนหรือกลุ่มคนทำงานจะมีโอกาสไปยืนตรงมุมไหนในสังคมได้หรือถูกจำกัดให้ยืนได้ตามที่บอกหรือแสงไฟที่สาดส่องไปถึงเท่านั้น!

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

Bus Way : รถเมล์อารยะที่อยากได้

การเดินทางในแต่ละวันของผู้คนเพื่อไปประกอบอาชีพหรือกิจธุระคือ ระบบขนส่งมวลชนหรือที่เรียกกันว่า “Mass Transportation” ซึ่งเรามักจะถูกทำให้เข้าใจผิดอยู่เสมอว่าสิ่งนี้คือ “รถไฟฟ้า” ทั้งบนฟ้าและใต้ดิน เช่น “Sky Train” หรือ “Subway” โดยที่แต่ละประเทศอาจจะเรียกไม่เหมือนกัน

ประการแรก จะไปเมืองไหนก็สนใจเรื่องขนส่งมวลชน
สมมติตัวอย่างง่ายๆ ถ้าท่านเป็นคนต่างชาติเดินทางจากต่างประเทศมาเมืองไทย ท่านจะถามอะไรบ้าง ผู้เขียนคงเดาได้ว่า สถานการณ์บ้านเมืองเราเป็นอย่างไร การเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งจะเป็นอย่างไร เช่น จากสนามบินไปโรงแรมหรือจากโรงแรมไปยังจุดนัดหมาย ค่าใช้จ่ายถูกแพงกว่าบ้านเขาหรือไม่

ช่วงที่ผู้เขียนอยู่ที่เมืองบริสเบน(Brisbane) รัฐควีนส์แลนด์ฝั่งตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย นายแพทย์ท่านหนึ่งจะเดินทางมาประชุมการแพทย์ที่พัทยา ครอบครัวโฮมสเตย์ที่นั่นได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันและเชิญนายแพทย์และผู้เขียนกับเพื่อนมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยและเมืองพัทยา

คำถามแรกที่เจอเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีตผู้นำของประเทศเราว่ามีปัญหาอะไร คำตอบที่ง่ายตามที่รับทราบกันอยู่ “ถูกกฎหมายแต่ขาดจริยธรรม”

คำถามต่อมาคือ สถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นอย่างไร รุนแรงน่ากลัวหรือไม่ ผู้เขียนจึงบอกไปอย่างเห็นใจว่า ข่าวที่ออกมานั้นทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน “3 จังหวัดภาคใต้” นี้ต้องเดินทางถึง 1 วันจากกรุงเทพฯ ขณะที่ภูเก็ต (ซึ่งต่างชาติรู้จักดี) อยู่ไม่ห่างเท่าไรนักจาก 3 จังหวัดภาคใต้ ยังมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวปกติแม้จะไม่มากเท่าก่อนมีคลื่นยักษ์ถล่ม

เมืองพัทยาเดินทางยากไหม รถติดไหม แสดงว่าบ้านเราขึ้นชื่อเรื่องนี้ ผู้เขียนบอกไปว่า ถ้าเข้ามอเตอร์เวย์ ประมาณ 2 ชั่วโมงหรือชั่วโมงกว่าก็ถึงพัทยาแล้วจากกรุงเทพฯ

สุดท้ายแหล่งชอปปิงราคาถูก เราคงรู้ๆ กันว่ามีที่ไหนบ้าง

ประการต่อมา ระบบขนส่งมวลชนคือ หัวใจของการพัฒนาประเทศ

ผู้เขียนนิยามเอาเองว่า ระบบขนส่งมวลชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ เพราะเมื่อผู้เขียนเดินทางไปต่างประเทศ จะพบว่า การเดินทางที่ประหยัดและสะดวก รวดเร็วของแต่ละประเทศคือ ระบบขนส่งมวลชน
ตัวอย่างเช่น เมืองระดับโลกทั้งหลาย ฮ่องกงจะมีรถไฟด่วนจากสนามบินถึงตัวเมือง สิงคโปร์จากสนามบินถึงถนนออร์ชาด ซิดนีย์ก็มีจากสนามบินถึงใจกลางเมืองซิดนีย์ ฯลฯ

ถามว่าบ้านเรามีไหมที่เดินทางมาถึงดอนเมืองแล้วมีรถไฟด่วนติดแอร์ถึงกลางเมือง (Downtown) ราคาถูกไม่มีครับ!!! (ที่กำลังสร้าง Airport Link ก็ไม่รู้ชาติไหนจะได้ใช้ จากมักกะสันไปสุวรรณภูมิ)  แล้วทำไมในต่างประเทศจึงมีบริการสาธารณะเหล่านี้

สิ่งแรก ผู้บริหารประเทศของเขามีความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานของประชาชน
- ถ้าการเดินทางมีราคาถูก ต้นทุนต่ำ จะเกิดผลตามมาอย่างมหาศาล เช่น ครอบครัวจะมีเงินเหลือใช้มากขึ้น ชาติก็ประหยัดพลังงาน สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชาติจะดีขึ้น
- การประหยัดงบประมาณในการลงทุนสร้าง-ซ่อมถนนที่นำไปสู่ความร่ำรวยของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม อากาศไม่เป็นพิษจากควันเสียของรถยนต์ เพราะคนจะไม่ใช้รถยนต์ในการเดินทางไปทำงานหรือกิจธุระส่วนตัว 

ดังนั้นผู้นำประเทศที่มีความคิดเพื่อคนในชาตินั้น จริงๆ จะต้องทำสิ่งที่เป็นปัจจัย พื้นฐานของชีวิตคนให้ดีขึ้น สิ่งแรกสุดคือเรื่องการเดินทาง หรือระบบขนส่งมวลชน (แม้ว่าจริง ๆ จะเป็นการศึกษาก็ตาม)

สิ่งที่สอง ทำไมต่างประเทศเขาถึงเน้นระบบขนส่งมวลชน

ระบบขนส่งมวลชนนี้ หมายถึง ทั้งรถเมล์ รถไฟ เรือโดยสาร ต้องเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์แบบ
ผู้เขียนเดินทางจากสนามบินชางฮี สิงคโปร์เข้าไปที่ถนนออร์ชาด เสียค่าโดยสารเพียง 1 เหรียญ 70 เซนต์ คิดง่ายๆ ไม่ถึง 50 บาท (1 เหรียญสิงคโปร์ประมาณ 24 บาท) ในการเดินทางกว่า 30 นาที ถ้ารถแท็กซี่ประมาณ 15 เหรียญซึ่งต่างกันนับ 10 เท่า

หรืออย่างกรณีเดินทางจากสนามบินซิดนีย์ ไปเซ็นทรัลสเตชั่น (Central Station) กลางกรุงซิดนีย์ ประมาณ 50 เหรียญออสเตรเลีย (1 เหรียญออสเตรเลียประมาณ 28 บาท) แต่ราคานี้จะเป็นตั๋วไป-กลับมายังสนามบินและขึ้นรถโดยสารปรับอากาศ รถไฟใต้ดินและเรือเฟอร์รี่ไปได้ฟรีตลอด 1 สัปดาห์โดยไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดเที่ยวในเมืองซิดนีย์

ดังนั้นช่วงที่ผู้เขียนอยู่ที่ซิดนีย์จึงสามารถไปชม “Darling Habor” ซึ่งเป็นอ่าวซิดนีย์และล่องเรือดู “Sydney Opera House” “Sydney Bridge” โดยเรือเฟอร์รี่ฟรี (เพราะจ่ายไปแล้วตั้งแต่ซื้อตั๋ว 50 เหรียญครั้งแรก)

ประการสุดท้าย Bus Way : รถเมล์อารยะ
การเดินทางในแต่ละวันของผู้เขียนจากที่พักไปยังมหา’ลัยในเมืองบริสเบนจำเป็นต้องเตรียมการ เช่น
- จะต้องวางแผนตลอดเส้นทางเพราะผู้เขียนต้องเดินทาง ทั้งเดิน ขึ้นรถเมล์ (Bus Way) และเรือเฟอร์รี่ (City Cat) เพราะถ้าหากพลาดเพียง 1-2 นาทีจะพลาดรถเมล์แล้วก็จะพลาดเรือเฟอร์รี่
- การเดินทาง ควรจะซื้อตั๋วไปเที่ยวเดียว(Single) วันเดียว (Daily) รายสัปดาห์ (Weekly) รายเดือน (Monthly) ฯลฯ อีกทั้งยังมีราคาสำหรับนักเรียน คนพิการ คนทั่วไป คนสูงอายุ เพราะราคาตั๋วจะแตกต่างกันอยู่ที่การวางแผนและรายได้ของแต่ละคน แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ระบบส่วนใหญ่ตั๋วของเขาทำด้วยต้นทุนที่ต่ำ เป็นกระดาษพริ้นต์จากเครื่อง และเป็นการ์ดกระดาษผิวมัน มีแถบแม่เหล็ก โดยไม่มีการมัดจำค่าตั๋วแบบบ้านเรา

ที่เรียกว่า Bus Way ในเมืองบริสเบน จะหมายถึง การจัดทำช่องทางซูเปอร์ไฮเวย์ เพื่อให้รถเมล์วิ่งโดยเฉพาะ รถอื่นเข้ามาวิ่งไม่ได้ มีระบบบริหารจัดการชั้นเยี่ยม
รถเมล์จะเป็นรถโดยสารปรับอากาศและใหม่เสียส่วนใหญ่ บริหารโดยสภาเมืองบริสเบน ซึ่งมีอู่รถของตนเองที่สร้างรถเมล์ใหม่ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 คัน โดยมีพนักงาน 44 คน ทำงาน 7 วันทำการเพื่อสร้างรถเมล์ที่ดีที่สุดและที่น่าสนใจคือ ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกคัน

การเชื่อมโยงระบบขนส่งทั้งหมดด้วยความสะดวก คนออสซี่สามารถเดินทางโดยรถเมล์ทาง Bus Way ซึ่งจะเร็วกว่าขับรถยนต์ ถูกกว่า หรือรถไฟก็ใช้ตั๋วใบเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ขณะเดียวกันจะไปต่อเรือโดยสารที่เรียกว่า City Cat เป็นเรือเฟอร์รี่ ล่องแม่น้ำบริสเบน ซึ่งได้อีกบรรยากาศเพราะแม่น้ำเขาสะอาดมาก 2 ฝั่งเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้ความสดชื่นของสายน้ำและอากาศไปพร้อมๆ กัน เรือ City Cat บางครั้งอาจจะเรียกว่า City Kitty เป็นที่นิยมกันมากของชาวออสซี่ในบริสเบน (เรือนี้ปลอดภัยและใหญ่กว่าเรือด่วนเจ้าพระยา 2-3 เท่าตัว)

ที่น่าสนใจมากๆ คือ แท็กซี่มีน้อยมากในบริสเบน เพราะคนออสซี่นิยมระบบขนส่งมวลชนมากกว่าครับ!

สำหรับประเทศไทย อย่ามัวแต่คิดแต่เรื่องสร้างรถไฟฟ้า-รถใต้ดินแค่นี้เลยครับ ระบบขนส่งทางน้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา และรถเมล์ ถ้าปรับปรุงให้เป็น Bus Way ได้จะวิเศษสุดๆ ดีกว่า Bus Lane ซึ่งไม่ได้มีอะไรมากนักและก็วิ่งไม่เป็นระบบถ้าสังคายนาได้ จัดระบบใหม่ทั้งหมดในเมืองหลักและบริหารโดยมืออาชีพที่เป็นระบบเดียวทั้งระบบบ้านเมืองคงพัฒนามากกว่านี้ 

และที่อยากเป็นเมืองหลวงของการท่องเที่ยวตามที่บอกว่า คิดมา 30 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นเกิดสักที เพราะใครมากรุงเทพฯก็ด่าว่าจอร์จทั้งนั้นแล้วจะไม่มาอีก!!!

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

ธุรกิจและชาติต้องเดินหน้า หมดเวลารอแล้ว!

ประเทศไทยมีโมเดลใหม่ออกมาต่อเนื่องในช่วง 5 ปีของการพัฒนาให้ก้าวสู่ความทันสมัย แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าโดยข้อเท็จจริง สถาบัน imd ซึ่งจัดอันดับแข่งขันของประเทศต่างๆ ของโลก ในปี 2549 ผลการจัดอันดับความสามารถแข่งขัน ปรากฏว่า อันดับที่ 1-4 ยังคงเหมือนเดิมคือ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา อันดับ 2 ฮ่องกง อันดับ 3 สิงคโปร์ และอันดับ 4 ไอซ์แลนด์

ประเทศไทยในภาวะวิกฤติผู้นำประเทศ ตกลงมา 5 อันดับจากอันดับ 27 ไปอยู่อันดับ 32 ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนสอบเอเน็ตละครับ ได้คะแนน 62.57% ถ้านำมาตั้งเป็นสมมติฐานก็จะเห็นภาพเกี่ยวกับธุรกิจและการแข่งขันของประเทศดังนี้

ประการที่หนึ่ง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ “พลวัต” หรือกลไกที่แท้จริงอยู่ที่ "ภาคเอกชน" เป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่า เพราะที่ภาครัฐทุ่มงบประมาณลงไปที่รากหญ้า การปราบปรามยาเสพติด สิ่งเหล่านี้ไม่แน่ใจว่าจะทำให้ผลิตภาพ (productivity) ของประเทศสูงขึ้น แต่สิ่งที่ธุรกิจส่งออกหรือเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนแท้จริง

ประการที่สอง ถ้าภาครัฐได้ทำหน้าที่เชิงนโยบายและสนับสนุนส่งเสริมโดยพื้นฐาน เป็นคำอธิบายการทำหน้าที่ของภาครัฐจากแนวคิดของพอร์เตอร์ ที่เสนอไว้ในโมเดลเพชร (diamond model) ดังนั้น การดึงให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการไปโรดโชว์หรือการเปิดให้สิทธิพิเศษด้านส่งเสริมการลงทุน ไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนอยู่อีกหรือไม่ หรือมีสัญญาณอะไรบ่งบอกว่า ภาคเอกชนต้องขับเคลื่อนให้เร็วกว่านี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลของโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา โดยสอบถามถึงคุณภาพของพนักงานในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง พบว่า

1.โรงงานอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราขณะนี้มองว่า เราไม่ใช่แหล่งที่ได้เปรียบในการลงทุน ทั้งนี้เพราะว่าค่าแรงของระดับแรงงานไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว และมีที่อื่นซึ่งถูกกว่า เช่น จีน เวียดนาม และประเทศเกิดใหม่

2.เทคโนโลยีในการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและยกระดับความรู้ที่สูงขึ้น แต่แรงงานไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยกระดับความรู้และทักษะให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้หรือทำได้ช้ามาก จึงทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหาแหล่งการผลิตใหม่ หรือมองแหล่งที่จะลงทุนใหม่

ประการที่สาม สภาพปัญหาจริงๆ ของธุรกิจไทย ผู้เขียนได้พบผลสำรวจของยูพีเอส เอเชีย บิสสิเนส มอนิเตอร์ ครั้งที่ 2 จากความเห็นของผู้นำองค์การธุรกิจ SMEs ในเอเชีย-แปซิฟิก 12 ประเทศ รวม 1,203 ราย ระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548- มกราคม 2549 พบว่า ประเทศที่มีศักยภาพแข่งขันของธุรกิจ SMEs ที่สูง 3 อันดับแรก คือ จีน (70%) ญี่ปุ่น (58%) และเกาหลีใต้ (55%) ส่วนไทย อยู่ในอันดับ 9 (32%) เหนือกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

ปัญหาหลักของธุรกิจ SMEs ของไทย ประกอบด้วย การเข้าถึงตลาดต่างประเทศ กฎระเบียบของรัฐบาล กระแสเงินสดและการเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งปัญหาในการเติบโตและส่งผลต่อความสามารถแข่งขัน เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทุนดำเนินการ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ และนวัตกรรม

ประการสุดท้าย ธุรกิจและชาติต้องการอะไรเพื่อการแข่งขัน สิ่งที่ธุรกิจและชาติต้องการให้สามารถแข่งขันได้ มีคำถามถึงความจำเป็นที่จะต้องรอผู้นำประเทศหรือรัฐบาลใหม่เพื่อการแข่งขันใช่หรือไม่

คำตอบคือ ธุรกิจต้องแข่งขันด้วยตนเองก่อน เพราะการนั่งรอของธุรกิจอาจพลาดโอกาสในการแข่งขันไปก็ได้ โดยเฉพาะธุรกิจระดับภูมิภาคเอเชียไม่ว่า จีน อินเดีย เวียดนาม เขาไม่สนใจว่าในประเทศจะเป็นอย่างไร ธุรกิจต้องเดินก่อน (แม้ว่าจริง ๆ อยากจะให้บ้านเมืองสงบหรือ มีความมั่นคงทางการเมืองก็ตาม)

ในช่วงที่ผู้เขียนไปเที่ยวที่ซิดนีย์ ยังมีโอกาสได้พบสินค้าที่ทำมาจากกัมพูชา สิ่งนี้หมายความว่า ถ้าเราโชคดีได้ผู้นำประเทศที่ดี มีจริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง คนในชาตินั้นก็โชคดี สามารถมีต้นทุนที่ดีในการแข่งขันกับประเทศอื่น 

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องรออะไรอีกต่อไป เพราะธุรกิจที่น่าสนใจมากๆ สำหรับนักธุรกิจไทยถ้าหากต้องการเจาะตลาดเข้าไปยังออสเตรเลีย มีอยู่ 2 ธุรกิจที่ทำได้อย่างชัวร์ 100% คือ ธุรกิจร้านอาหารไทยกับธุรกิจสปา 
(ในด้านข้อกฎหมาย การลงทุน หรือ การขออนุญาตเข้าเมือง และ การมีใบวุฒิบัตรอาชีพ เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเรียนรู้และศึกษาก่อนไปทำธุรกิจต่างประเทศนะครับ)
ธุรกิจร้านอาหารไทยสามารถเข้าไปเจาะตลาดตามชุมชนหรือถิ่นที่มีไชน่าทาวน์ตั้งอยู่ เนื่องจากอาหารไทยเป็นที่นิยมมากและสนนราคาก็สูงเอาเรื่อง แต่คนกลับเต็มร้านหรือขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในช่วงศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ขณะที่ธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่เริ่มตื่นตัวและมีมากขึ้น สามารถแข่งขันได้อย่างสบายมากๆ

ดังนั้น 
ผู้ประกอบการต้องเข้าใจถึง “ลูกค้า” ที่จะมาใช้บริการว่าจะมีมูลค่าเพิ่มอะไรที่จะเสนอให้ ขณะเดียวกันก็หนีไม่พ้นต้องมี “นวัตกรรม” หรืออะไรที่เป็นความคิดใหม่แล้วเกิดผลเชิงพาณิชย์ เพราะสิ่งนี้เป็นความแตกต่างในผลิตภัณฑ์และบริการ สุดท้าย “ภูมิศาสตร์ประเทศ/ภูมิทัศน์ของประเทศ” หมายถึง ทำเลที่ตั้งหรือเมืองใดที่เราจะใช้กลยุทธการตลาดเจาะเข้าไป 

เหนือสิ่งอื่นใดต้องสื่อสารด้วยภาษาที่ลูกค้าเข้าใจ ผู้เขียนจึงเชื่อว่า นักธุรกิจรุ่นใหม่ทำได้ ส่วนพนักงานหาได้ไม่ยากเพราะมีนักเรียนไทยและคนไทยรับทำงานทั้งเต็มเวลาและบางเวลาอยู่พอสมควร

โดยสรุป การที่จะมีผู้นำประเทศคนใหม่อย่างไร กระบวนการโดยระบบที่น่าเชื่อถือได้จากการเลือกตั้งคงสามารถดำเนินการได้ ผู้ประกอบการธุรกิจถึงเวลาเดินหน้าได้แล้วครับ หมดเวลากังวลหรือรอว่าสถานการณ์น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หากช้ากว่านี้อาจจะแพ้ประเทศกลุ่มอินโดจีนก็ได้ใครจะไปรู้? เพราะตอนนี้เราแพ้แน่ ๆแล้วครับ คือ NIEs (ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงค์โปร์)

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

มหานครระดับโลก กับ สุวรรณภูมิฝันแล้ง ๆ ของไทย

"หนองงูเห่า" หรือสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ ของประเทศไทย ถ้าจะบอกว่าเป็นตำนานก็คงจะได้เพราะตั้งแต่ช่วงที่ผมเรียนในระดับปริญญาตรีเกือบ 30 ปีมาแล้ว เรื่องราวสนามบินแห่งใหม่ ที่จะแทนที่สนามบินดอนเมือง มีการพูดกันมาแล้วพอๆ กับการขุดคอคอดกะ แล้วก็หายเงียบไปทุกทีถ้าคิดจะทำจริงๆ ไม่รู้ว่าด้วยปัจจัยอะไร


แต่พอมาถึงวันนี้ ฝันของประเทศไทยในเรื่องสนามบินนานาชาติแห่งใหม่แทบจะเป็นฝันสลายเพราะยังไม่เคยเจออะไรที่แย่ ๆ เท่ากับสุวรรณภูมิ ส่วนจะแข่งขันได้สำเร็จในภูมิภาคนี้หรือไม่ต้องดูฝีมือรัฐบาลชุดต่อ ๆ ล่ะครับ!

ประการแรก เราคนไทยเชียร์สุวรรณภูมิ (ในใจแต่ไปใช้แล้วถอดใจ)

ผู้เขียนเชื่อว่าในหัวใจคนไทยที่มีทั้งวิญญาณและตัวตนรักชาติไทย คงอยากเห็นประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ดีกว่าที่ผ่านๆ มาและในอนาคต แต่ความจริงที่เปลี่ยนแปลงของโลกแห่งการแข่งขันเราก็ต้องเข้าใจและยอมรับด้วยเช่นกัน 

ในภูมิภาคเอเชียต้องยอมรับว่า สนามบินนานาชาติฮ่องกง มีระดับและความทันสมัยในระดับโลก รวมทั้งสารพัดสิ่งอำนวยความสะดวกและการดึงดูดนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ซึ่งฮ่องกงในปัจจุบันกำลังจะเป็นมหานครที่ทันสมัยระดับโลก มีสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก มีสวนสนุกเป็นแห่งที่ 5 ของโลกที่ ดิสนีย์ แลนด์ มาลงทุนสร้าง

เฉพาะแค่การสร้างสนามบินนานาชาติฮ่องกงจนกระทั่งประสบความสำเร็จนั้นมีธีม (Theme) ขายอยู่ 9 ธีม 

เกาหลีใต้ก็มีสนามบินนานาชาติใหม่ที่อิชอน หรือสิงคโปร์ที่ชางฮีที่ปรับปรุงอย่างมโหฬาร คาดว่าน่าจะเสร็จแล้วกระมังเพราะต้องการแข่งกับไทยเรา

แสดงให้เห็นว่าในเชิงกลยุทธระดับโลก (Global Strategy) แล้ว "สุวรรณภูมิ" คงจะต้องทำหรือต้องมีอะไรที่จะทำให้ชนะได้ทันที

ประการต่อมา มหานครระดับโลก (A Global City)

สังคมไทยจะมีจุดเด่นที่เริ่มชัดเจนคือ การเป็นสังคมแห่งการล่าฝัน (AF Society) เพราะ "การล่าฝัน" กลับกลายเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็น "แก่นแท้หรือดีเอ็นเอของสังคมไทย" ที่จะทำให้แข่งขันในเวทีโลกได้หรือไม่

เมื่อมีการออกข่าวว่าประเทศไทยเราจะมีจังหวัดที่ 77 คือ มหานครสุวรรณภูมิ คนไทยที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์และแผ่นดินไทย จะคิดอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้หรือเป็นเพียงฝันใหม่ของไทย (คนไทยทุกคน) และก็ท่าจะแท้งเสียแล้ววันนี้ บรรดานายทุนที่กว้านซื้อที่ไว้คงเร่งหาทางระบายออก เร็ว ๆ นี้ เราๆ ท่าน ๆ อาจจะได้เก็บของถูกกันบ้าง

อย่างนั้นก่อนที่จะคิดไปอย่างไม่มีหลักการหรือถูกมอมเมาทางความเชื่อและศรัทธาในลัทธิที่สวนกระแสสันติสุขของโลก หรือการตลาดแห่งอารมณ์ (Emotional Marketing) ลองมาพิจารณาเกี่ยวกับแนวคิดเชิงกลยุทธของมหานครระดับโลกดูกันก่อนดีกว่า

มหานครระดับโลกคืออะไร 

คำว่า มหานครระดับโลก (A Global City) จะต้องมีความหมายเหมือนๆ ลอนดอน นิวยอร์ก ซึ่งจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มหานครระดับโลกจะต้องมีลักษณะของการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ของโลกอย่างแนบแน่น อาทิ เป็นศูนย์กลางของสินค้าและบริการที่จะกลายเป็นฮับ (Hub) 

หรือมหานครระดับโลกจะได้รับธุรกิจจากทุกส่วนของโลกมายังมหานครนี้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการเงิน ศูนย์กลางธุรกิจ ศูนย์กลางการค้า ขนส่ง โลจิสติกส์และกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ ที่ให้บริการต่อตลาดในขนาดทวีปใหญ่ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงตลาดในประเทศหรือแค่ภูมิภาคอย่างที่เข้าใจกัน

(2)มหานครระดับโลก ควรจะเป็นศูนย์กลางของการเป็นหัวใจของกลุ่มประชากร ในมหานครหลักๆ เช่น ลอนดอนเป็นผู้กำหนด อิงแลนด์ทางตอนใต้ และนิวยอร์กมีอิทธิพลเหนือ 5 เขตเลือกตั้งถึงคอนเนคติกัท

(3) มหานครดังกล่าวนี้จะเป็นแค่เพียงเมืองใหญ่เพราะมีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ ยังไม่เพียงพอแต่จะต้องสามารถกำหนดขอบเขตอิทธิพลอื่นๆ เช่น แฟชั่น วัฒนธรรมหรือการบันเทิง ดังเช่น กรณีของลอนดอนและนิวยอร์ก

โตเกียวเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งเป็นมหานครที่ใหญ่และมีความสำคัญในระดับโลก แต่ไม่ใช่มหานครระดับโลก โตเกียวยังมีความไม่ชัดเจนระหว่างการเป็นมหานครยิ่งใหญ่ระดับโลกกับการเป็นมหานครทั่วๆ ไป เหมือนกับลาสเวกัส ที่เป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่ด้านการพนันแต่ไม่ใช่มหานครระดับโลก หรือปารีสเป็นศูนย์กลางแฟชั่นระดับโลกแต่ไม่ใช่มหานครระดับโลก 

ปัจจุบันในเอเชีย ไม่มี "มหานครระดับโลก" (อ้างจาก (Bhaskaran, M., 2005: The Fourth Singapore Economic Roundtable)

ประการสุดท้าย ความท้าทายสู่การเป็นมหานครระดับโลก 

เมื่อทุกท่านได้เข้าใจในความหมายของการเป็นมหานครระดับโลก ตามที่ได้ยกตัวอย่างมานั้น จะเห็นได้ว่าการเป็นมหานครระดับโลกไม่ใช่อยู่ๆ จะเป็นขึ้นมาได้เพียงเพราะชื่อเรียก หรือมีสนามบินนานาชาติแล้วจะเกิดความเป็นมหานครระดับโลก

ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลใดก็ตามมีความคิดที่อยากจะปั้นมหานครระดับโลกขึ้นมา แต่เงื่อนไขแห่งความสำเร็จทางกลยุทธยังไม่มีความชัดเจนพอเพราะ

1.เขตบริเวณของสุวรรณภูมิไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงศักยภาพที่จะเข้าไป กำหนดบทบาทของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของประชาคมโลกได้ในขณะนี้ หรือหากในอนาคตก็ไม่แน่ใจว่าจะต้องทุ่มงบประมาณอีกกี่แสนล้านบาท ที่จะไปเวนคืนที่ซึ่งมีทุนรายใหญ่จับจองพร้อมที่จะขายหรือลงทุนทำเองไม่กี่คน

2.เมืองที่จะเป็นมหานครระดับโลกที่น่าจะเข้าชิงได้ในเอเชีย ผู้เขียนเห็นว่ามีอยู่ 3 เมืองคือ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 3 เมืองนี้ได้มีการวางกลยุทธที่จะท้าชิงความเป็นมหานครระดับโลกของเอเชียอยู่แล้ว 

ถ้าประเทศไทยอยากมีเมืองใดที่จะสร้างให้เป็นมหานครระดับโลก คงต้อง ทำการบ้านมากกว่านี้เพราะ 3 เมืองข้างต้นก้าวไปสู่ความเป็นหรือเกือบๆ เป็นมหานครแล้ว แต่ยังไม่ถึงการเป็นมหานครระดับโลก เราต้องเร็วกว่านี้อีกครับขอเอาใจช่วย ถ้าประเทศไทยอยากมีจริงๆ (เมืองอื่นนะไม่ใช่สุวรรณภูมิ)

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

O (K) ไหม การจัดการประเทศไทย

การที่ผู้เขียนทำงานด้านการจัดการกลยุทธธุรกิจและบริหารคนแนวใหม่  บางครั้งก็ฉีกแนวออกมาเสนอแนะในเชิงนโยบายของประเทศผ่านทางสื่อมวลชนบ้าง  หรือไม่ก็ในเวทีสัมมนาต่างๆ ที่เชิญผู้เขียนไปบรรยาย  แต่ส่วนใหญ่มักจะขีดขอบเขตอยู่ในธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่า
  ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศมีอะไรที่ถึงจุดซึ่งคนที่มีสำนึกรักประเทศและอยากตอบแทนคุณแผ่นดิน  คงต้องพิจารณาการบริหารจัดการของประเทศและช่วยกันเปิดหูเปิดตาประชาชนบางส่วนที่ยังติดหรือหลงอยู่กับความฝันในอดีต  ซึ่งดูเหมือนดีเปรียบได้ดัง “ข้างนอกสุกใส ข้างในต๊ะติ๊งโหน่ง”
  ผู้เขียนมีกรณีตัวอย่างขององค์กรที่เคยทำงานมาในอดีตที่น่าจะหยิบยกมาเล่าในช่วงเวลานี้ซึ่งเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

  กรณีที่ 1   ไม่จัดการอย่างเด็ดขาดกับคนที่สร้างปัญหา

ในธนาคารแห่งหนึ่งที่ผู้เขียนทำงาน  ผู้บริหารระดับสูง  ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้เขียนได้เปรยๆ กับผู้เขียนว่า ผู้บริหารที่เป็นหัวหน้าโดยตรงนั้นทำงานหรือไม่อย่างไร  เพราะเห็นไม่เคยอยู่ที่สำนักงาน  ได้แต่ตระเวนไปตึกโน้นตึกนี้คุยหมดเวลาไปวันๆ
  ผู้เขียนได้แต่บอกให้ผู้บริหารระดับสูงทราบว่า  ในความเป็นจริงแล้วงานส่วนใหญ่ผู้เขียนเป็นผู้ดำเนินการและที่ท่านรู้ก็เป็นจริงอย่างนั้นและผู้บริหารท่านนี้ไม่เพียงไปคุยเท่านั้น  ยังสุมไฟเผาบ้านตนเองและให้ร้ายผู้บริหารระดับสูงท่านนี้ด้วย
  พอเวลาผ่านไปอีก 2-3 เดือนได้มีโอกาสคุยกันในเรื่องผู้บริหารที่เป็นหัวหน้าโดยตรงของผู้เขียนอีกครั้ง  ผู้เขียนจึงเสนอเชิงความเห็นว่า ถ้าผมเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงและต้องเผชิญกับปัญหานี้จะจัดการดังนี้

1. การอาศัยความเป็นสุภาพบุรุษกับคนที่มีจิตใจคับแคบและเป็นวัสสการ-พราหมณ์  ปัญหาดังกล่าวคงไม่จบลงง่ายๆ
2. ธนาคารเป็นองค์กรที่ต้องอาศัย “ความเชื่อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ามาใช้บริการ  หากเรามีผู้บริหารในลักษณะดังกล่าวแล้วเกิดปัญหานี้เมื่อกระจายออกไปสู่ภายนอกจนถึงลูกค้าปัญหาจะลุกลามใหญ่โตและอาจนำวิกฤตมาสู่ธนาคารได้
3. การที่มีบุคคลซึ่งเป็นปัญหาแล้วไม่ดำเนินการใดๆ นั้นในช่วงแรกๆ ทุกคนในธนาคารโดยเฉพาะผู้บริหารท่านอื่นก็จะเชื่อตามที่เราบอก  แต่พอเวลาผ่านไป เช่น นาน 6 เดือนแต่ทำอะไรไม่ได้  คนที่เป็นปัญหาจะไม่ใช่บุคคลที่เป็นผู้บริหารคนนั้น  แต่จะกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงเสียเอง
ผู้เขียนทิ้งคำตอบให้ท่านผู้บริหารหรือผู้อ่านคาดเดาเอาเองว่าเรื่องจะจบอย่างไร

กรณีที่ 2   การโจมตีค่าเงินบาทของประเทศไทยจากพวกอีแร้งฟันด์ (Hedge Fund) หรือ       กลุ่มพ่อค้าโจร (Robber Baron)
ผู้เขียนคิดว่า เราคนไทยไม่ลืมช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในปี 2539  ทุกครั้งที่มีการโจมตีค่าเงินบาทนั้นนักวิเคราะห์และวิชาการด้านการเงินจะสรุปว่า ผู้ที่สามารถโจมตีค่าเงินเพื่อเก็งกำไรหรืออาจถึงกับต้องการยึดเศรษฐกิจและธุรกิจทั้งหมดนั้นมักจะเกิดมาจาก
(1) กลุ่มอีแร้งฟันด์ (Hedge Fund) หรือพวกพ่อค้าโจร (Robber Baron) ที่มีเงินทุนก้อนโตไล่ทุบหรือเก็งกำไรเงินดอลลาร์ ทองคำและน้ำมัน
(2) กลุ่มธุรกิจการเงินที่สามารถถือครองเงินสกุลดอลลาร์ หรือทำการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ได้  ซึ่งกลุ่มนี้มีขีดความสามารถในการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือการซื้อขายเงินล่วงหน้า  กลุ่มนี้เป็นพวกกองหนุนคือ ถ้าดูแล้วมีโอกาสทำกำไรก็จะโดดเข้าร่วมวงโจมตีค่าเงินด้วยในทันที
ถึงขนาดที่ช่วงนั้นลือกันว่า  ถ้าขาดทุนในด้านอัตราแลกเปลี่ยนธุรกิจจะเป็นผู้รับผิดชอบ (องค์กรเจ๊ง!) แต่ถ้ากำไรจะเข้ากระเป๋าผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ
(3) กลุ่มที่ธนาคารชาติจะปกป้องหรือคุ้มครองคือ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ส่งออกสินค้านำเงินเข้าประเทศ  ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการฯ กลุ่มนี้  ธนาคารชาติจะเอาเงินสำรองคือดอลลาร์มาปกป้องค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไปจนทำให้การส่งออกมีปัญหา (แต่ในความเป็นจริงที่ไม่พูดกันให้ชาวบ้านอย่างเรารู้คือ ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรต่างๆ หรือแม้กระทั่งน้ำมันดิบที่ซื้อราคาจะถูกกว่าเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น  นี่คือกำไรที่ผู้ประกอบการอุตสาห-กรรมไม่เคยพูดถึง)
      กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออก  จะมีสำนักงานตัวแทนอยู่ในต่างประเทศเมื่อค้าขายได้เงินดอลลาร์มา  จะเป็นกลุ่มที่กำไรและค้าเงินไปด้วย  ซึ่งจะทำตัวเหมือนกลุ่ม (1) และ กลุ่ม (2) ทันทีเพราะ เงินๆๆๆๆ นั่นเอง  ทั้งๆ ที่ธนาคารชาติเอาเงินสำรองไปยันค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้แข็งค่าเกินไปก็ช่วยเหลือเหล่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกที่ต้องดูแลเป็นอย่างดี
      ทุกครั้งที่มีการแข็งค่าของเงินบาทหรือมีการเก็งกำไรเงินดอลลาร์จะเกิดจาก  กลุ่มธุรกิจจาก 3 กลุ่มนี้เป็นหลักเท่านั้น  แม้ว่าอาจจะมีบริษัทใหญ่ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีขีดความสามารถทำได้เพราะสามารถระดมทุนหรือมีการออกหุ้นกู้ได้ ฯลฯ แต่จะเป็นกลุ่มตามแห่เสียมากกว่า  ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีปัญญาไปทุบค่าเงินเพื่อเก็งกำไรกับเขาหรอกครับ!
      การแข็งค่าเงินในปัจจุบัน  อาจจะเป็นเหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมตามที่เล่ามาก็ได้  แต่ที่น่ากลัวคือ สมมติว่าหากมีใครที่มีเงินมากๆ พอๆ กับกองทุนอีแร็งฟันด์ต้องการโจมตีค่าเงินบาทก็ทำได้เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต้องการของประเทศไทยคือ  การมองในเชิงของการวิเคราะห์ด้านการจัดการของประเทศ
ประการแรก  โอกาสที่จะสร้างคุณความดีให้กับแผ่นดิน

ผู้เขียนมองในเชิงวิเคราะห์ว่า  เราเกิดมาได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติในยามที่ชาติต้องการนั้นเป็นสิ่งที่สุดยอดที่สุด  ถ้าหากใครก็ตามที่มีความพร้อมเพียงพอ เช่น คณะรัฐมนตรี  หากได้มีสำนึกเช่นนี้ประเทศชาติจะมีโอกาสที่พัฒนาได้อีกมาก


ประการต่อมา  การที่ผู้บริหารประเทศมาจากฟากทหารและข้าราชการเกษียณ  รวมทั้งกลุ่มบุคลากรที่ทำงานด้านรากหญ้า  สะท้อนให้เห็นชัดว่า
@ เทคโนโลยีหรือวิธีวิทยาการในด้านการบริหารจัดการดูประหนึ่งว่า  มีองค์ความรู้ที่ล้าหลังและไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
@  เป็นสภาพของคนที่อยู่ในอาการ “Culture Shock” คือไม่สามารถปรับตัวได้  “จึงทำงานตามเวลา” แต่ไม่อาจที่จะก้าวเข้ามาเป็น “ผู้สร้างเครื่องบอกเวลาได้”
@  วิธีการบริหารจะต้อง “บริหารบนโลกของความจริง” ครับ  เมื่อเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจหนุนจากการรัฐประการ  ก็ควรฉลาดที่จะใช้อำนาจนั้น  ไม่ใช่คิดและทำแบบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (เพราะเขามีเวลาที่จะลากยาวได้ตั้ง 4 ปีหรืออาจะถึง 8 ปี)
  6 เดือนที่เหลืออยู่นี้ถ้าปรับวิธีการบริหารจัดการใหม่  ถ้าเป็นโรงเหล้า ป่านนี้ขวดเบียร์คู่แข่งที่ซื้อมาจากพ่อค้าขายขวดซื้อได้ในราคาถูกๆคงกรอกน้ำ เขย่าขวด ติดฉลากใหม่ออกสู่ตลาด รับรองขายดีระเบิด!!!


  ประการสุดท้าย  ประเทศไทยจะ “O(K)” ไหมนี่  สิ่งที่ดูร้ายๆ ทั้งหลายน่ะเป็น “มือที่มองไม่เห็น” แต่ตาวิเศษเห็นนะ!หากรัฐบาลอยากจะทำอะไรก็ทำจริงๆ เสียที ผมเพิ่งกลับมาจากจังหวัดภูเก็ตดูแล้วคนละเรื่องกับกรุงเทพเลยครับ  เศรษฐกิจที่นั่นมีนักท่องเที่ยว การค้าขายอสังหาริมทรัพย์  ค้าเพชรค้าทอง สถานบันเทิงโดยเฉพาะเรือยอร์ทราคานับสิบๆ ล้านมาจอดเทียบท่าขายดิบขายดีดูไฮโซยังไงยังงั้นจริงๆ  ขณะที่กรุงเทพได้เปลี่ยนเป็นเวทีไฮปาร์ค ชุมนุมม็อบ ฯลฯ ดูไม่ใช่เมืองหลวงของประเทศที่กำลังพัฒนาเลย!!!
  ถ้าจะให้ O(K) คงต้องปรับวิธีการบริหารจัดการใหม่  ใครจะว่ายังไงก็ช่างเฉพาะทำแบบรีเอ็นจิเนียดีกว่า  การบริหารแบบประเภทประชุมถามความเห็น ตั้งคณะทำงาน วางแผน น่าจะเลิกได้ มิฉะนั้นอาจตกขบวนประเทศเกิดใหม่นะจะบอกให้

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

คิดและทำงานพัฒนาระดับชาติแบบไทย ๆ

ก่อนหน้านี้เมื่อเรามองดูการพัฒนาของธุรกิจหรือการพัฒนาประเทศ ส่วนใหญ่เรามักจะมองดูการพัฒนาของประเทศสิงคโปร์ แต่ไปๆ มาๆ กลับไม่โดดเด่นอย่างที่คิด แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการพัฒนาธุรกิจและประเทศสิงคโปร์คือ ความโปร่งใสและคอร์รัปชันในประเทศต่ำมากๆ หรืออาจจะเรียกว่า ประเทศใสสะอาดเลยก็ว่าได้

ขณะเดียวกันพอก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 กลับมีการเปลี่ยนกันขนานใหญ่ ภูมิทัศน์ใหม่ของโลกโดยเฉพาะการเติบโตของเอเชียแต่ไม่ใช่สิงคโปร์หรือประเทศไทย 

ในบริบทขององค์กรภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานราชการจะมีความคิดและวิถีปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่งคือ มักจะชอบว่าจ้างหรือให้มีการประมูลงานให้บริษัท-เอกชนหรือผู้รับเหมาช่วงเข้ามาดำเนินการไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

เหตุผลที่หนักแน่นมากที่สุดดูจะเป็นเรื่อง ความไม่รู้ในสิ่งที่ทำ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือจ้างฝรั่งหรือบริษัทที่ปรึกษาให้เข้ามาดำเนินการดูจะเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เรื่องของเรื่องมักจะเกิดอยู่เสมอๆ ซึ่งพรรคพวกหรือผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานกึ่งรัฐช่วยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

หน่วยงานของเขานั้นไม่ค่อยได้ทำอะไรหรอก เพราะใช้วิธีว่าจ้างหมดหรือสมัยใหม่เรียกว่า การใช้บริการจากภายนอก (Outsourcing) เมื่อคิดได้ดังนั้นก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อ

1) ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ไม่ว่าตาจะสีอะไรได้ทั้งนั้น แต่ถ้าตาสีฟ้าดูจะมีภาษีหน่อยเพราะพูดอะไรออกมาเป็นที่น่าเคารพสักการะเสียเป็นส่วนใหญ่

2) เมื่อลงมือทำการประชันขันแข่งกันทั้งด้านเทคนิคและสรรพความรู้ที่จะระดมกันมา ซึ่งอาจจะขนมาจากนอกบ้านเราก็มีขอเพียงให้ได้งาน แล้วไปว่าจ้างต่อหรือส่งพวกมือสมัครเล่นเข้ามาก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะทั้งองค์กรไม่ได้มีใครสนใจจริงๆ จังๆ อยู่แล้ว เนื่องจากไม่ใช่องค์กรของเรา เงินก็ไม่ใช่ของเรา ขณะเดียวกันจะได้มีงานทำแถมนำไปเป็นป้ายฉลากอ้างอิงคุณภาพได้อีก

3) ดังนั้นพอคัดเลือกได้ก็จะลงมือทำงาน บริษัทที่ได้รับงานจะมีการส่งงานเป็นงวดๆ แล้วจะมีคนชุดหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับงาน ถ้าผ่านเรียบร้อยจะจ่ายเงินตามงวดดังกล่าว

4)ผลลัพธ์จะมีทั้งใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้างผสมเคล้ากันไป แต่ถ้าเป็นประเภทรับเหมาก่อสร้างดูจะได้ชิ้นงานเป็นน้ำเป็นนวล แต่จะมั่นคงถาวรแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นของเรื่องจึงดูเหมือนจะเกิดขึ้นคล้ายๆ กันในทุกหน่วยงานของทั้งภาครัฐและองค์การต่างๆ ของรัฐ อาทิ

๐ประเด็นที่น่าสนใจคือ หากองค์กรหรือหน่วยงานไม่มีความรู้ในเรื่องที่ว่าจ้างให้ทำ เมื่อว่าจ้างให้บริษัทต่างๆ เข้ามาทำให้แล้วส่งมอบงาน องค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ จะมีความรู้หรือองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าวนั้นได้อย่างไรเพราะตั้งแต่แรกก็ไม่มีใครรู้อยู่แล้ว

๐ผู้เขียนเคยได้ยินผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการชั้นนำแห่งหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า “ได้ฟังบริษัทที่ปรึกษามานำเสนอโครงการ (Proposal) จนกระทั่งเกิดความเข้าใจในเรื่องที่ทำแล้ว” จึงเกิดความสงสัยว่าลำพังคนที่ทำและปฏิบัติอยู่ในเรื่องนั้นๆ จะหาความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยังยาก อาทิในเรื่องของวิสัยทัศน์ ภารกิจและกลยุทธ์ เรื่องการจัดการความรู้ (ฮือฮากันมากในภาครัฐ แต่เอาเข้าใจจริงๆ จะมีสักแค่ไหนกันใครที่รู้จริงๆ) หรือเรื่องความสามารถก็พูดกันมาก

ฉะนั้นลำพังเพียงโครงการที่นำเสนอเข้าใจได้ดูจะฉลาดเหนือธรรมดา แล้วไปจ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำไม และเมื่อเป็นสิ่งต่อเนื่องจากประการแรกคือ ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ว่าจ้างให้ที่ปรึกษาเข้ามาทำแล้วองค์กรที่ว่าจ้างจะรู้ได้อย่างไรว่าความรู้ที่ได้มาจากที่ปรึกษาหรือบริษัทรับเหมางานนั้นๆ เป็นความรู้ทางเทคนิคที่ถูกต้อง ไม่ย้อมแมวขายหรือเราโชคดีได้ของเลหลังราคาถูกแลกกับไก่กับหมู

๐ประเด็นที่น่าตื่นเต้นต่อมาคือ คณะกรรมการตรวจรับเมื่อองค์กรหรือหน่วยงานดังกล่าว ไม่มีความรู้ในเรื่องที่ว่าจ้างให้มาทำแล้วคณะกรรมการตรวจรับจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวิชาการหรือความรู้เฉพาะด้านยิ่งไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ ซึ่งได้จัดทำงานในโครงการหนึ่งที่เป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านของบริหารคนที่องค์กรไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องดังกล่าว องค์กรได้มอบให้ผู้บริหารระดับรองผู้อำนวยการหน่วยงานทำหน้าที่ตรวจรับงาน ปรากฏว่างานบริหารที่ท่านนี้ทำก็ไม่ได้ดีอยู่แล้ว มาตรวจรับงานจึงว่าตามตัวอักษรกลายเป็นโอละพ่อไปเลย แต่ถ้าจ้างที่ปรึกษาให้ทำทุกชุดซึ่งมีบางหน่วยงานได้ทำแบบนี้ด้วยแล้ว สุดท้ายองค์กรดังกล่าวจะได้อะไรจริงๆ ครับ น่าสงสัยมาก

เห็นไหมล่ะครับ! นี่ขนาดเรื่องง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรในสิ่งที่องค์กรไม่มีความรู้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษามาทำให้หมด แล้วถามจริงๆ เลยจะรู้อะไรหรือฉลาดขึ้นมาได้อย่างไร

 ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา เขามีขอบเขตการว่าจ้างครับ 
อะไรที่เป็นทรัพยากรของชาติ อะไรที่เป็นองค์ความรู้ของชาติ อะไรที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของชาติ เขาไม่ว่าจ้างให้คนอื่นมาทำหรอกครับ แค่การเข้าถึงข้อมูลซึ่งไม่ใช่อเมริกันชนแท้ๆ ยังเข้าไม่ได้เลย หนังสือตำราบางชุดจะพิมพ์ขายเฉพาะในอเมริกาห้ามจำหน่ายต่างประเทศ 

ทำอย่างไรให้เรา (ประเทศไทย) สามารถดำรงอยู่และเข้าไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยึดมั่นในผลประโยขน์ของชาติมากกว่าคำพูดที่บอกว่ารักชาติ  ต้องเปลี่ยนความคิดและวิธีการพัฒนาในระบบราชการใหม่ครับมิฉะนั้นก็จะเป็นแบบนี้อีกยาวนานสำหรับประเทศเรา และรับรองได้ว่าคอร์รัปชันไม่มีวันหมดไปแน่  และถ้าจะลดคอรับชั่นได้จะต้องใช้วิธีการแบบเกาหลีใต้โดยเฉพาะคนระดับรัฐมนตรีที่ต้องติดคุกได้เท่านั้นครับ! จึงจะเป็นทางรอดใหม่ของประเทศ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants