ยามที่ประเทศชาติอยู่ในสภาพที่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอ่อนแอ และโดยเฉพาะภาคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงสูงลง นักวิชาการและผู้ที่มีความรู้ในสังคมมักจะให้ทัศนะหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยในทิศทางที่ว่า
# การเมืองของเราหากเดินไปสู่ทิศทางของการมีเสียงสนับสนุนในภาครัฐบาลแบบรัฐบาลพรรคเดียวน่าจะทำให้เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองตลอดจนการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมั่นคงเติบโตในระยะยาว
# ผู้คุมนโยบายเป็นใครก็ได้ที่มีฐานการเมืองสนับสนุน เพราะเพียงแต่ฝ่ายปฏิบัติหรือหน่วยงานภาครัฐสนองหรือทำตามนโยบายกระทรวง ทบวง กรม ก็จะเดินหน้าได้แล้ว
# หากได้มาซึ่งนักธุรกิจเข้ามาบริหารประเทศชาติ คงทำให้ประเทศชาติพัฒนาและแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าคนของภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ เพราะอะไรก็ตามที่ภาครัฐเข้าไปเป็นผู้จัดทำจะพบว่าส่วนใหญ่กิจการขาดทุนหรือล้มละลาย หนี้สินเป็นนับพันทวี
5 ปี’ผ่านมา ยืนยันได้ว่าไม่เป็นความจริงเพราะน่าจะถือได้ว่าเป็นความล้มเหลวของประเทศไทยที่ได้มีนักธุรกิจเข้ามาบริหารบ้านเมือง การปฏิรูประบบราชการที่น่าจะก้าวไปสู่ทิศทางที่ดีได้กลับเป็นตรงกันข้าม มีแต่พรรคพวกเข้ามาหาประโยชน์ และอีกหลายๆ อย่างซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเป็นการถาวรในอีก 4 ปีข้างหน้าหากการเลือกตั้งยังเป็นคนเดิม ๆ แต่เสื้อใหม่
แต่ สิ่งที่ปรากฏในระยะเวลาสั้นๆ ของเดือน พค.50 ที่มีการประกาศผลโอเน็ต ผู้เขียนเริ่มรู้สึกเหมือนคนไทยทั้งประเทศว่า กังวลในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นหรือเริ่มมีปรากฏให้เห็นแล้วว่า “เรื่องใหญ่ที่สุดแต่อาจจะเป็นเรื่องช้าที่สุดคือ การศึกษาของชาติ”
เพราะ 5-6 ปีที่ผ่านมาภายใต้นโยบายด้านการศึกษาแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือบ่งบอกได้เลยว่า
การศึกษาจะก้าวขึ้นมาเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประเทศไทยมี “ทุนทางปัญญา” (IC: Intellectual Capital) ที่ดีกว่า หรือนำไปสร้างนวัตกรรมที่ทำให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างจริงๆ จังๆ เสียที จะเห็นมีก็แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ กับอุปกรณ์การเรียนเท่านั้น
เมื่อ ไม่นานนัก รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ได้เคยรายงานผลการศึกษาในระยะ 6 เดือนของปี’2547 พบว่า
“การศึกษายังไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการสร้างความรู้ได้อย่างแท้จริง
คุณภาพงานที่สร้างสรรค์ไม่โดดเด่น การเห็นแก่ส่วนรวมและรักษ์ความเป็นไทยก็ยังมีน้อยมาก การรู้เรื่องสารสนเทศยังอยู่ในระดับต่ำและการใช้เทคโนโลยีมีน้อยมาก
อุปสรรคสำคัญคือ ระบบการศึกษาไทยยังมีลักษณะเป็นการศึกษารูปแบบเดียวเหมือนโรงานอุตสาหกรรมรุ่นเก่าที่ปั๊มคนออกมาให้ได้”
น่าตกตะลึง กับผลโอเน็ต
สถิติคะแนนสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) (กุมภาพันธ์ 2550)
วิชาภาษาไทย คะแนนเฉลี่ย 50.33 มีผู้เข้าสอบ 313,147 คน
วิชาสังคมศึกษา คะแนนเฉลี่ย 37.94 มีผู้เข้าสอบ 314,481 คน
วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเฉลี่ย 32.37 มีผู้เข้าสอบ 314,383 คน
วิชาคณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 29.36 มีผู้เข้าสอบ 314,094 คน
วิชาวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 34.88 มีผู้เข้าสอบ 313,070 คน
โดยรวมก็ไม่ต่างจากปี 2549 เท่าไรนักคือตกพอ ๆ กันในทุกวิชา
เป็นอย่างไรครับท่านผู้อ่าน! ทั้งคะแนน โอเน็ต และผลการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาของไทยที่ “อนาคตอยู่ในมือคุณ”
คนไทยเราได้มีโอกาสที่ดีหลายๆ อย่างแต่ด้านการศึกษาต้องจัดการแบบมืออาชีพ (ไม่ใช่มาบอกว่าคะแนนไม่ดีเพราะเด็กไม่ตั้งใจทำข้อสอบ ทั้ง ๆ ที่อย่าบอกใครนะครับ เจ้าข้อสอบโอเน็ตที่ว่านี่เทียบแล้ว ง่ายกว่า สอบเข้ามหา'ลัย หลายสิบเท่า)
ผู้เขียนอยากจะขอนำตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจัดการศึกษาแบบเรียกได้ว่าเป็น “มืออาชีพของแท้” มาเล่าสู่กันฟัง
ประการแรก พาราไดม์การเติบโตในปัจจุบันไม่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจแห่งความรู้ (KBE: Knowledge Based Economy) เพราะว่า พาราไดม์ในปัจจุบัน เช่น การสะสมทุนมีจุดมุ่งคือ ทุนเบื้องต้นด้านวัสดุอุปกรณ์ ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคล จุดมุ่งคือ แรงงาน และส่วนนำของประเทศคือรัฐบาล ซึ่งหากมีพาราไดม์แบบนี้จะไม่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจแห่งความรู้และโดยเฉพาะในโลกาภิวัตน์และการปฏิบัติด้าน IT
……สิ่งที่เป็นพาราไดม์ในอนาคตที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการคือ การสะสมทุนด้านทุนมนุษย์ ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคลที่สำคัญคือ ความรู้ และส่วนนำของประเทศคือ มหา’ลัยและธุรกิจ
เกาหลีใต้มีการพัฒนาเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบันได้มุ่งที่ R & D ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงระดับกลาง เช่น อิเลคทรอนิกส์ รถยนต์ เครื่องจักร และการสร้างสิ่งที่คงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันที่สูง แต่เมื่อได้กำหนดพาราไดม์อนาคตใหม่จึงเริ่มต้นที่จะเพิ่มขึ้นในกลยุทธด้านการลงทุนในระดับชาติด้านเทคโนโลยีใหม่ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ไบโอเทค (BT) นาโนเทค (NT)
ประการสำคัญ พื้นฐานโครงสร้างของนโยบายพัฒนาทุนมนุษย์ของเกาหลีใต้ จึงมีการกำหนดใหม่ให้สามารถนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจแห่งความรู้ได้อย่างแท้จริง
กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเกาหลีใต้จึงได้จัดวางพื้นฐานโครงสร้างของนโยบาย ในส่วนของ “วิสัยทัศน์และกลยุทธ” “ขอบเขตของงาน” รวมถึง “กลยุทธหลัก” ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่จะกลายเป็น “ทุนมนุษย์” ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
โดยมี “ขอบเขตและงาน” ที่สำคัญใน 4 ด้านซึ่งประกอบด้วย
- การพัฒนาความสามารถในงานสำคัญสำหรับคนเกาหลีทั้งหมด
- ทำให้ความรู้และคนเป็นสิ่งผลักดันสำหรับการเติบโต
- ยกระดับของการใช้ประโยชน์และการจัดการคน
- การสร้างโครงข่ายพื้นฐานสำหรับการพัฒนาคน
ส่วน “กลยุทธหลัก” ที่สำคัญจะประกอบด้วย
- กลยุทธระบบเปิดและเครือข่าย
- กลยุทธการปรับสู่ยุคสารสนเทศ
- กลยุทธการลดเกณฑ์และความเป็นอิสระที่สูงมาก
- กลยุทธจัดการให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนมากที่สุด โดยเฉพาะผู้หญิง (เนื่องจากในปัจจุบันมีส่วนร่วมน้อย)
ทั้งหมดนี้เราเริ่มเห็นความสำคัญค่อยๆ ชัดขึ้นของประเทศเกาหลีใต้ในเวทีโลกหรือจะเห็นยักษ์ใหญ่ เช่น ซัมซุง แอลจี...นี่ล่ะครับ! ถึงเรียกว่า การจัดการศึกษาเวทีนี้ไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้นครับ
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment