ยามที่ประเทศพบกับวิกฤติน้ำมันที่มีราคาแพงมาก แต่ในขณะเดียวกันประชาชนคนไทยคงปลื้มปิติมากกับการที่ธุรกิจน้ำมันของชาติได้เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทน้ำมันที่กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และมีผู้ถือหุ้นนานาชาติได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Business Week ให้เป็นบริษัทชั้นนำของเอเซีย
ถ้าธุรกิจน้ำมันดังกล่าวเจริญเติบโตและสร้างความสมดุลด้านพลังงานให้กับประเทศชาติได้ คงจะน่ายินดีสำหรับคนไทยทุกคน
ประเด็นที่ฮิตในปัจจุบันคือ หากรัฐบาลสามารถใช้กลไกของธุรกิจที่รัฐบาลดูแลอยู่ไปสร้างความร่ำรวยให้คนระดับล่างของประเทศออกไปแข่งขันในเวทีโลกได้ ประเทศไทยที่มีประชากรแค่ 63 ล้านคน ส่วนแบ่งตลาดโลกไม่ถึง 10% (น่าจะเลขตัวเดียวเสียมากกว่า) น่าจะแข่งขันได้ดีกว่าไปผลักดัน OTOP สู่เวทีโลกหรือไม่ เพราะกว่าจะมี OTOP รอดตายไปสู่เวทีโลกได้คงต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก ผลได้อาจจะเท่ากับงบโฆษณาของบางบริษัทชั้นดีที่ออกโฆษณาตามหน้าหนังสือหรือทีวีว่าได้รับการจัดอันดับให้เป็นธุรกิจชั้นเลิศ
องค์กรรัฐวิสาหกิจมีกี่ชั้นด้วยกัน
ปัจจุบันเราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้หน่วยงานของรัฐทันสมัยมาก มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันค่อนข้างมากเพื่อให้รู้ว่าได้นำงบประมาณจากภาษีของประชาชนเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง คุ้มหรือไม่คุ้มกับภาษี และประชาชนคงไม่ได้คิดว่าจะจ่ายภาษีเพื่อบางคน บางกลุ่มให้นำไปใช้ตามสิ่งที่ตนเองคิดและเพื่อมิตรสหายหรือผองเพื่อนพี่น้องแห่งตน แต่น่าจะใช้สำหรับพัฒนาประเทศเพื่อคนไทยที่มีจิตใจรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ทุกคน
การศึกษาวิเคราะห์สำหรับองค์กรสมัยใหม่ในปัจจุบันมีการทำและศึกษากันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
- การศึกษาในบริษัทที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานที่เน้นกิจกรรมทางการตลาดสูงกลับพบว่า ไม่ได้มีความสามารถที่เก่งกาจในเรื่องจัดการคนเท่าไหร่นัก
- องค์กรที่เป็นหลักของประเทศโดยเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจหรือการเงินของประเทศจะมีการพัฒนาและวางรากฐานด้านคนไว้ค่อนข้างดี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปสู่กิจกรรมที่เน้นการตลาดมากขึ้นกลับลดบทบาทการพัฒนาและการส่งเสริมสร้างสติปัญญาให้กับบุคลากรในองค์กร (ดูได้จากการลดบทบาทของหน่วยงานพัฒนาคนให้มีขนาดเล็กลง)
- องค์การรัฐวิสาหกิจที่เดินตามแนวคิดของธุรกิจเอกชนในเรื่องการใช้หน่วยบริการภายนอก (Outsourcing) จะใช้วิธีการลดคนเพื่อว่าจ้างหรือแตกหน่วยงานออกไปเป็นบริษัทเข้ามารับจ้างบริการดังกล่าว ซึ่งรูปแบบนี้ทำให้ประสิทธิภาพลดลงโดยเฉพาะการดำเนินการกับหน่วยงานที่เป็นกิจกรรมหลักของธุรกิจ หรือดำเนินการดังกล่าวทำเหมือนเอกชนไม่ได้ เพราะเอกชนเป็นกลุ่มบริษัทหรือเครือกิจการ ซึ่งสามารถยุบงานที่เหมือนกันไปตั้งเป็นหน่วยงานกลางให้บริการทั้งหมด หรือเป็นบริษัทจ้างเหมาบริการได้
- องค์กรรัฐวิสาหกิจถูกเงื่อนไขต้องถูกประเมินจากหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เพราะมิฉะนั้นจะไม่ได้มีโอกาสจัดอันดับเป็นหน่วยงานชั้นดี ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ผลตอบแทนตามไปด้วย หลายๆ หน่วยงานดังกล่าวจึงใช้วิธีการลัดคือไปจ้างบริษัทที่เป็นผู้ประเมินมาวางระบบหรือสิ่งที่จะประเมินเมื่อถูกประเมิน ผลการประเมินจะได้ดีซึ่งก็น่าเคลือบแคลงและคิดถึงความโปร่งใสเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงจริงๆ แล้วกิจการนั้นๆ ดีจริงหรือเปล่า
ประชาชนหรือผู้ใช้บริการจะรู้สึกขัดแย้งมากระหว่าง “การสร้างภาพ” กับ “การทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐในการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นตามภารกิจหรือหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ”
แต่สิ่งที่ขัดแย้งเป็นอย่างยิ่งคือ การบริการของรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการพื้นฐานกลับไม่ได้ดีตามนั้น
Big Story ขององค์กรรัฐวิสาหกิจ
ผู้เขียนมักจะมีโอกาสได้ติดต่อหรือใช้บริการของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะที่เป็นบริการพื้นฐานของประเทศ แต่สิ่งที่ได้รับมักไม่สมราคาคุย
เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า ในการที่ผู้เขียนเข้าไปให้บริการในรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการโทรคมนาคมแห่งหนึ่ง ผู้เขียนพบเกี่ยวกับระบบบัญชีการเงินเป็นยิ่งกว่าระบบราชการเสียอีกทั้งๆ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ
- Invoice จะผิดหรือจะถูกก็ไม่มีการแจ้งให้ทราบ เมื่อทวงถามเข้าไปก็บอกว่ารายการผิดต้องแก้ไขใหม่ทำให้เสียเวลาเป็นสัปดาห์และก็เป็นอย่างนี้ 2-3 ครั้ง
- อะไรที่ตกลงกับฝ่ายเจ้าของงานเมื่อผ่านไปถึงทางฝ่ายบัญชีการเงินก็จะบอกเพียงว่า หลักเกณฑ์เป็นอย่างนี้ที่ตกลงกับฝ่ายเจ้าของงานเค้าไม่รับรู้ด้วย ก็ต้องกลับมาแก้ไขใหม่ให้เป็นไปตามที่ฝ่ายบัญชีการเงินกำหนดหลักเกณฑ์ไว้
ผู้เขียนไม่เข้าใจว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงจากรัฐวิสาหกิจกลายร่างเป็นบริษัทจำกัดแล้ว ทำไมหลักเกณฑ์จึงยังเป็นราชการหมื่นเปอร์เซ็นต์อีก
นี่ขนาดเป็นบริษัทจำกัดแล้วนะครับ! ถ้าแปรรูปเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประชาชนหรือผู้ติดต่อจะได้คุณค่าอะไรนอกจากการเพิ่มค่าบริการทุกๆ ปี
สิ่งนี้เป็นชะตากรรมของคนไทยครับ? เราจะไปหวังพึ่งใครได้ บางทีก็นึกอิจฉาประเทศอื่นๆ และธุรกิจในเอเชียที่เจริญเติบโต ชีวิตของประชาชนเค้าดีขึ้น ขณะที่คนไทยเรามีชีวิตที่ต้องอยู่กับสังคมบริโภคนิยม สังคมสุขนิยม ไม่มีโอกาสและทางเลือกในชีวิตมากนัก ความห่างทางสังคมก็ห่างขึ้นทุกวัน
ในเมื่อองค์กรรัฐวิสาหกิจมีดีชั้นเลิศได้ไม่กี่แห่ง ที่เหลือก็สมควรขายทิ้งให้หมดเรื่องไปดีไหมครับ! เพราะไหนๆ ก็แพงทุกอย่างอยู่แล้วมีหรือไม่มีชีวิตเราๆ ท่านก็คงไม่ต่างจากเดิมมากนัก
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment