OK Nation.net เปิดเวทีให้สมาชิกชุมชนรังสรรค์ในวาระที่ครบรอบ 10 ปีแห่งวิกฤตทางการเงิน ผู้เขียนถือวิสาสะว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชน OKNation.net จึงจะขอเขียนในมิติที่แตกต่างออกไป โดยจะมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกันในสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก 10 ปีแห่งวิกฤตทางการเงินคือ บุพปัจจัยของวิกฤตทางการเงิน ระบบเศรษฐกิจคู่ขนาน : เป็นทั้งผู้สร้างและทำลาย และบทสรุป : เศรษฐกิจหมุนกลับทิศทาง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
บุพปัจจัยของวิกฤตทางการเงิน: ปฐมบทที่ได้เรียนรู้
คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของไทยเราเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีและโดยเฉพาะนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ น่าจะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งเดินทางมาถึงปี’2539
- การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงนั้นเรียกว่า เครื่องร้อนทีเดียวเพราะเราเข้าใจว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยเรามั่นคง มีการส่งออกเป็นจำนวนและมีเงินทุนสำรองน่าจะประมาณสื่หมื่นล้านUSดอลลาร์
- กิจการอสังหาริมทรัพย์เติบโตถึงขีดสุด แต่เป็นการโตบนพื้นฐานของการกู้เงินระยะสั้นจากต่างประเทศและมาลงทุนระยะยาวในประเทศ
- ธุรกิจเช่า-ซื้อรถยนตฺ์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจรายเดียว ก็เกินกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดและก็นำเงินที่ได้ไปหมุนหลายรอบเพื่อสร้างราคาหุ้นแล้วกู้เพิ่ม สร้างราคาหุ้นและกู้เพิ่ม
ดังนั้นสถาบันทางการเงินและธนาคารจึงร่ำรวยและปล่อยกู้อย่างเพลิดเพลินไปกับเศรษฐกิจภาพลวงตา
ฟองสบู่ดังกล่าวเป็นฟองที่อบอวล สวยงามสาดกระจายไปทั่วทุกธุรกิจและหย่อมหญ้าในประเทศไทย
ฉับพลันทันใดนั้น เมื่อเราถูกพวกกองทุนข้ามชาติ (อีแร้งฟันด์) หรือพวกพ่อค้าโจร (Robber Baron) ทุบค่าเงินบาทและด้วยความไม่ประสีประสาของ ธปท.ที่ดูแลตะกร้าเงินบาทที่ผูกติดกับUSดอลลาร์ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และในเกมที่ธปท.ชนะถึงกับเปิดแชมเปญเลี้ยงอย่างลำพองใจ ซึ่งหารู้ไม่ว่าหายนะห่างไปแค่ปากเหว
ในทันทีที่ถูกโจมตีรอบสุดท้ายด้วยเงินจากกองทุนข้ามชาติ ธปท.ก็หมดเงินสำรองที่จะใช้ยันค่าเงินบาท จึงต้องจำใจยอมแพ้ปล่อยให้ล่องลอยไปถึง 50 กว่าบาทและเข้าแผนฟื้นฟูของ IMF จนสิ้นอิสรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ทำให้ธุรกิจใหญ่น้อยที่กู้เงินดอกเบี้ยถูกในระยะสั้นมีหนี้สินทบเท่าพันทวี สูญเสียกิจการล้มระเนระนาดทุกกลุ่มและทุกชนชั้นของสังคมในประเทศไทย
ระบบเศรษฐกิจคู่ขนาน: เป็นทั้งผู้สร้างและทำลาย
สังคมไทยเราเรียกหา อัศวินม้าขาวหรือกบเลือกนายที่จะเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ ขอตัดภาพมาที่เราได้ อัศวินควายดำ (ตามการเรียกขานของ (คุณสรกล แห่งค่ายมติชน)เข้ามาพร้อมกับคัมภีร์เศรษฐกิจเล่มใหม่ “ระบบเศรษฐกิจคู่ขนาน” (Dual Track Economy)
มหากาพย์บทที่ 1 : Episode I
“4ปีสร้างเศรษฐกิจ A (เกษตร) I (อุตสาหกรรม) S (บริการ)
ด้วยพื้นฐานของ 4 ปีสร้างเศรษฐกิจ A (เกษตร) I (อุตสาหกรรม) S (บริการ) ที่มีเบื้องหลังของ “เศรษฐกิจการตลาด” (Market-Driven Economy) โดยทำคลอดออกมาในนาม “เศรษฐกิจคู่ขนาน” (Dual Track Economy)
การเมืองเชิงการตลาดที่ต้องการปูฐานเสียงกับกลุ่มคนหรือชุมชนรากหญ้าด้วยการเอาชนะวงจร “โง่-จน-เจ็บ”
หรือ”วงจรชั่วร้ายแห่งความยากจน”
ลัทธิประชานิยมจึงถูกแคมเปญทางการตลาดกระหน่ำไปสร้างความรู้ด้วยทุนการศึกษาจากหวยบนดิน หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษาและโรงเรียนในฝัน ฯลฯ ถ้าคิดง่ายๆ ให้ค่าเทอมเรียนฟรี คนละ 1,000 บาทก็เป็นเงินเพียง 12,000 ล้านบาทแต่ก็ได้ประชานิยม 12 ล้านคน
คนจน 7.5 ล้านคนหรือร้อยละ 12 ของประชากรทั่วทั้งประเทศจะหมดใน 6 ปี อาทิ สิ่งที่จะทำให้คนจนหมดไป
-กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านและเพิ่มมาเป็นโครงการ SML หมู่บ้านละ 200,000 – 300,000 บาทเพื่อบริหารกันเอง 4 ปี
-OTOP (1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์) และ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นงานด้านพัฒนาองค์กรชุมชน ณ ปัจจุบันนี้
-บ้านเอื้ออาทร 1 ล้านยูนิตใน 5 ปี เพียงยูนิตละ 4 แสนบาท รัฐช่วยค่าสาธารณูปโภค 50,000 บาทต่อยูนิต
เจ็บ คือ คน 47 ล้านคนที่เป็นผู้ประกันตนจะได้รักษาโรคเกือบฟรี คือจ่ายเพียง 30 ปี
บทสรุปที่เป็นบทเรียนสำคัญ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวไว้เมื่อ 13 ก.ย.47 เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี 2530-2545 ประเทศไทยมีการคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ๆ ไม่ต่ำกว่า 12 ล้านล้านบาท (http://www.numtan,com/nineboard/view.php?id=2219)
กลุ่มคนชั้นกลาง มีประมาณ 25% ของประชากรทั้งประเทศได้ถูกทีมระดม “ถอนขนห่าน” เพื่อนำเงินไปเลี้ยงกลุ่ม 60-65% หรือคนรากหญ้า และกลุ่มคนชั้นสูง 10%ที่ไม่ต้องเสียภาษีหรือใช้วิธีการทางกฎหมายจากหมอภาษีและนักกฎหมายมือเยี่ยมหากสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกขั้วไหน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างให้คนชั้นกลาง นักวิชาการ ปัญญาชน รับกับเศษความรู้ด้วยการแนะนำหนังสือให้อ่านจะได้ไม่ยุ่งกับการเมือง ขณะเดียวกันก็มีโปรโมชั่นทางการตลาดสารพัดเพื่อให้ติดอยู่กับ “ลัทธิบริโภคสุขนิยม”
สรุปแล้วบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากมหากาพย์ที่ 1: Episod I 4 ปีสร้างเศรษฐกิจ A (เกษตร) I (อุตสาหกรรม) S (บริการ)
พบว่า คนที่เลี้ยงคนทั่วประเทศมีกลุ่มเดียวคือ ชนชั้นกลางที่ถูกฝังตรึงให้อยู่กับเศษความรู้และลัทธิบริโภคสุขนิยม
ขณะเดียวกันกลุ่มคนระดับรากหญ้า รับประชานิยมไปเต็มๆ เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญสำคัญ ขณะที่กลุ่มชนชั้นสูงเริ่มสังกัดขั้วชัดเจนเพราะจะได้อิงอำนาจและมีธุรกิจทำ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งนี้ได้เกิดเป็นฟองสบู่ของทางเศรษฐกิจของกลุ่มชุมชนรากหญ้าขึ้นมาแล้ว
มหากาพย์บทที่ 2 : Episode II
“4ปีเศรษฐกิจบริโภคสุขนิยมมหภาค”
จากรูป 10 ปีบนเส้นทางเศรษฐกิจคู่ขนาน : เป็นทั้งผู้สร้างและทำลาย ภายหลัง 19 ก.ย.49 เป็นวันล่มสลายของเศรษฐกิจคู่ขนาน
คำว่าเศรษฐกิจคู่ขนานคือ เน้นการส่งออก การทำ FTA (Free Trade Agreement) และ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) และการใช้เศรษฐกิจการตลาดในรูปแบบประชานิยมลงไปสู่เศรษฐกิจชุมชนรากหญ้า เพื่อให้เห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเพราะมีเงินที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ แต่ไม่สร้างผลิตภาพ
หลังจากนั้นอีก 4 ปีเป็น เศรษฐกิจบริโภคสุขนิยมมหภาค โดยที่เราจะพบบทเรียนที่สำคัญทางเศรษฐกิจคือ
กลุ่มชนชั้นปกครอง (นักการเมือง ผู้ประกอบการหรือธุรกิจอิงอำนาจการเมือง ข้าราชการระดับสูงหรือบางกลุ่มที่ชอบประชานิยมเช่นกัน ทหาร-ตำรวจ (เรียนรุ่นเดียวกัน)) ได้ปรับตนเองเป็น “กลุ่มธนกิจการเมือง” กลุ่มชนชั้นกลางเข้าสู่ กลุ่มบริโภคสุขนิยมเต็มตัว และกลุ่มประเภทรากหญ้าได้ปรับเปลี่ยนเป็นพลังทางสังคมที่เป็นลักษณะ “เครือข่ายชุมชนรากหญ้า” ศึกษาลักษณะทางกายภาพได้จากกลุ่มที่มาชุมนุมในปัจจุบันนี้ แต่กลุ่มนี้คือรูปแบบใหม่ของฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ
ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางบางส่วนเริ่มเรียนรู้และถอนตัวจากกลุ่มบริโภคสุขนิยม รวมถึงมีปรากฏการณ์ “จตุคาม-รามเทพ” ที่อาศัยการตลาดเชิงจิตวิญญาณทำให้มีเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท
บทสรุป : เศรษฐกิจหมุนกลับทิศทาง
ในภาพเศรษฐกิจของประเทศหลัง 19 ก.ย.49 จนถึงปัจจุบัน น่าจะสรุปได้โดยพิจารณาจากงบประมาณปี’51 ของรัฐบาลชั่วคราว-ขิงแก่พบว่า ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบหมุนกลับทิศทาง (Paradox Economy) กลายเป็นเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การพัฒนาสังคมอุดมคติรากหญ้าด้วยงบประมาณสูงถึง 58% ของงบประมาณ 1.6 พันล้านล้านบาท
ซึ่งในเนื้อหาแล้วก็คือ รูปแบบของ 8 ปีเศรษฐกิจคู่ขนานนั้นเองเพียงกลับหัวเศรษฐกิจเสรีหรือทุนนิยมลง แล้วพลิกฟองสบู่เครือข่ายชุมชนรากหญ้าเป็น “เศรษฐกิจสังคมอุดมคติรากหญ้า” ที่แทบจะไม่แตกต่างกันเลย ถ้าพิจารณาในรายละเอียดงบประมาณปี’51 ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนกลุ่มให้เข้ากับกระแสสันติวิธีบนความสมานฉันท์ (ไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีรุนแรง แต่ก็ไม่ไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา) หรือการขับเคลื่อนตามกระแสพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง (ผู้เขียนเห็นด้วยกับพระราชดำรัสแต่กังวลในวิธีการที่รัฐบาลชั่วคราวนี้ทำเท่านั้น)
ขณะที่กลุ่มชนชั้นกลางที่เป็นประชาชนทั่วไปหรือธุรกิจหลักถูกลดความสำคัญลงปัญหาต่างๆ คงซุกไว้ใต้พรมเพื่อรอรัฐบาลใหม่และข้าราชการส่วนใหญ่ยังคงขับเคลื่อนแบบเดิมคือ ปรับเงินเดือนและเพิ่มหน่วยงานใหม่ แต่จุดที่น่าศึกษาอย่างยิ่งคือการออก พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ที่เรากำลังจะเคลื่อนไปสู่ “สังคมอุดมชราภาพของข้าราชการระดับสูง” ที่ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
สรุปแล้ว 10 ปีแห่งวิกฤตทางการเงินจึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้นั้นได้นำไปสู่ฟองสบู่รอบใหม่หรือกลับทิศกลับทางในการพัฒนาประเทศตามสายไหมเส้นใหม่ที่เป็นเนื้อหาเดิม
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment