เรื่องราวของนวัตกรรม (Innovations) แต่เดิมเรามักเชื่อกันว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เป็นสิ่งที่ผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ซึ่งเราเรียกว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Development)
แต่ในปัจจุบันพบว่า นวัตกรรม (Innovation) เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจและองค์กร IBM ได้สำรวจกลุ่ม CEO หรือ C-Suite (ปี2013) พบว่า องค์กรในอนาคตที่ประสบความสำเร็จมี 3 คุณลักษณะดังนี้
1) เปิดรับอิทธิพลจากลูกค้าโดยการทลายกำแพงกั้นทั้งหลายเพื่อขยายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกองค์กร และนำเสียงของลูกค้าส่งตรงไปยังบอร์ดบริษัท
2) บุกเบิกด้านดิจิตอลหรือนวัตกรรมทางกายภาพโดยนำกิจกรรมแบบเดิมเข้าสู่โซเชี่ยล โมบายและเครือข่ายดิจิตอลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์-บริการใหม่และโมเดลธุรกิจ
3) ใช้ฝีมือสร้างประสบการณ์ในการผูกพันกับลูกค้า ด้วยการสร้างและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์อย่างไร้รอยตะเข็บ จนเติมเต็มความคาดหวังของลูกค้าและความแตกต่างขององค์กร
นวัตกรรม : ใครมีชนะแน่!
ธุรกิจเมื่อรู้ว่า ชัยชนะอยู่ที่นวัตกรรม (A Winning at Innovation) ธุรกิจจึงคิดใช้นวัตกรรมให้เป็นกลยุทธธุรกิจ โดยการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั้งการตลาดและบริการ การจัดการ เทคโนโลยี การผลิต ฯลฯ และเท่าที่มีการศึกษาในธุรกิจพบว่า นวัตกรรมนั้นดำเนินการอยู่ใน 2 แนวทางต่อไปนี้
แนวทางแรก เป็นนวัตกรรมแบบปิด (Closed Innovation) หมายถึง การที่ธุรกิจคิดค้นและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นใช้เองภายในองค์กรซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายการตลาด R&D และฝ่ายผลิต ฯลฯ วิธีการดังกล่าวแม้จะได้นวัตกรรมใหม่ในผลิตภัณฑ์และบริการ แต่มักจะช้าหรือใช้เวลานาน ผลสำเร็จก็มีทั้งสำเร็จ ติดตลาดและไม่ประสบความสำเร็จ
แนวทางที่สอง เป็นนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) เป็นลักษณะของการพัฒนานวัตกรรมที่ได้มาจากทุกส่วน อาทิ ลูกค้า ซัพพลายเออร์ บริษัท (ตลาด/ขาย ผลิต R&D) ผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯทำให้เกิดมีนวัตกรรมอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการด้วยโซลูชั่นที่ดียิ่งขึ้น
ดังนั้นเราสามารถให้ความหมายของนวัตกรรมทางธุรกิจได้ดังนี้
นวัตกรรมคือ ไอเดีย การปฏิบัติหรือวัตถุซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าใหม่โดยบุคคลหรือหน่วยงานที่ปรับใช้ อีกทั้งยังมีลักษณะเช่น
* เป็นการสำรวจของไอเดียที่ประสบความสำเร็จ
* เป็นสิ่งใหม่ที่ประยุกต์ในการผลิตของธุรกิจ การจัดจำหน่ายและการบริโภคในผลิตภัณฑ์หรือบริการ
*เป็นการประยุกต์เชิงพาณิชย์คนแรกหรือการผลิตในกระบวนการใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่
สรุป นวัตกรรม เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการทำเชิงพาณิชย์ของสิ่งประดิษฐ์ (ที่ออกมาจากห้องแลปหรือโรงฝึกงานให้เสร็จสมบูรณ์สำหรับตลาด)
และกระบวนการพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจ โดยปกติจะเริ่มมาจาก 2 ฝ่ายงานคือ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D Department) และฝ่ายการตลาด (Marketing Department) ซึ่งสามารถจำลองให้เห็นได้ตั้งแต่
1) ฝ่ายวิจัยและพัฒนาใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อ
-การสร้างไอเดีย (Idea Generation)
-การจัดทำข้อเสนอโครงการ (Project Proposal) อาจเรียกว่า “Project Champion”
-ระบบการประเมิน (Evaluation Systems) เช่น การวิเคราะห์โครงการ (Project Analysis) การพิจารณาเชิงกลยุทธ (Strategic Considerations) ว่า ไอเดียนั้นสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า สามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งได้หรือไม่ เป็นต้น
-การจัดการโครงการ (Project Management) ซึ่งประกอบด้วย การดำเนินการในขั้นวิจัยและพัฒนา (R&D) จริงในห้องทดลอง การออกแบบ (Design) การวางแผนเพื่อดำเนินการผลิต (Production) และวางแผนการตลาด
2) ฝ่ายการตลาด จะใช้ความรู้ในด้านความต้องการทางการตลาดเข้ามาร่วมในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ตั้งแต่เริ่มคิดไอเดียและในทุกขั้นตอนข้างต้น
สุดท้ายจึงได้ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ (New Products/New Services)
ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้กันในธุรกิจ ดังรูป
รูปที่ 1 : กระบวนการพัฒนานวัตกรรม
ขณะที่ Cooper (1994) สนใจตั้งแต่ปี 1994 ว่าโลกอุตสาหกรรมมีโมเดลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างไร ได้ทำการศึกษาพบ “Stage-gate Model” ซึ่งผู้เขียนได้นำไปทดลองใช้และพัฒนาใหม่ ดังนี้
Stage-gate Model ที่ผู้เขียนพัฒนาขึ้นเรียกใหม่ว่า “SIAM Innovation Model” ในโมเดลนี้มีอยู่ 3 กระบวนการด้วยกันประกอบด้วย กระบวนการแรกเป็นการสร้างไอเดีย (Idea Generation) กระบวนการที่สอง เป็นกรวยการพัฒนา (Development Funnel) และกระบวนการสุดท้าย การทำเชิงพาณิชย์ (Commercialization)
ในกระบวนการแรก เป็นการพัฒนาไอเดีย (Idea Generation) ผู้คิดไอเดียใหม่ สามารถเริ่มต้นพัฒนาไอเดียได้ ซึ่งมีอยู่ 5 ขั้นตอนย่อยๆ ดังนี้
1)การรวบรวมวัตถุดิบ (Combining old elements) ผู้บริหารธุรกิจหรือทีมพัฒนานวัตกรรมต้องรู้ว่า
•จะหาข้อมูลได้จากที่ไหน
•จะเก็บข้อมูลได้อย่างไร
•จะสะสมอะไรไว้เป็นข้อมูล
สรุปแล้วธุรกิจมีข้อมูลอยู่ 2 ชนิดคือ ข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเฉพาะเจาะจง
2)การรวมเข้าด้วยกันหรือการสร้างความเชื่อมโยงสัมพันธ์ (New Combinations) ซึ่งทีมนวัตกรรมต้องทำในสิ่งต่อไปนี้
•เริ่มมีความคิดเลาๆ รูปแบบใหม่ลางๆ
•จดบันทึกความคิดเลาๆ ของแต่ละคนลงบนบอร์ดอาจเรียกว่า ไอเดียบอร์ดก็ได้
•ถึงตรงนี้แต่ละคนจะครุ่นคิดเพื่อต่อจิกซอว์ความคิดหรือไอเดีย
3)การเพาะบ่มความคิด (Mental Digestive Process) ขั้นตอนนี้เป็นการปล่อยให้สมองว่างให้จิตใต้สำนึกทำงาน ทีมนวัตกรรมอาจเป็นการไปพักผ่อน เที่ยวดูหนัง ฟังเพลงและหลับฝันดี
4)การผุดบังเกิดความคิด (Eureka)
เมื่อผ่านขั้นตอนที่ 3 สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสมองของทีมนวัตกรรม อาทิ
•ไอเดียจะผุดบังเกิดขึ้น
•เกิดการผุดบังเกิดความคิดนี้เรียกว่า “การตกผลึกความคิด”
5)การขัดเกลาความคิด (The Final Stage) ทีมนวัตกรรมต้องเรียนรู้ที่จะขัดเกลาความคิด โดยใช้วิธีการดังนี้
•ปรับแต่งความคิดให้มีความเป็นไปได้
•มีความอดทนในการขัดเกลาความคิด มิฉะนั้นความคิดดีๆ จะถูกทิ้งไป
•การนำไอเดียใหม่ไปสู่โลกความจริง ซึ่งเป็นบริบทของการทำงาน
ขั้นตอนทั้งหมดในกระบวนการพัฒนาไอเดียจึงเป็นการรวมทั้ง Stage I และ Gate I (G-I) เข้ามาอยู่ด้วยกัน
กระบวนการที่สอง กรวยการพัฒนา (Development Funnel) ในกระบวนการนี่คือ Stage 2 สร้างกรณีธุรกิจ ซึ่งหมายถึงการนำไอเดียจากกระบวนการพัฒนาไอเดียมานิยามโครงการ (Project definition) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผ่านประตู Gate-3 (G-3) ใน Stage 4 เป็นการพัฒนาแนวคิด ผลิตภัณฑ์ (Concept Development) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) และการตรวจสอบและแม่นตรง (Testing & Validation)
หากอธิบายง่ายๆในขั้นตอนนี้สามารถสรุปได้ว่าเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ก่อนการนำเข้าสู่ตลาด (Gate 4: G-4)
กระบวนการสุดท้าย คือ การทำเชิงพาณิชย์ (Commercialization) เป็น Stage 5 คือ การผลิตจริง การวิเคราะห์ตลาด การแข่งขัน การวางแผนนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดและเมื่อนำเข้าสู่ตลาดแล้วจะต้องมีการประเมินผลิตภัณฑ์ใหม่ในช่วงแรกว่า ตลาดตอบรับอย่างไร ต้องมีการทบทวนและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างไรหรือไม่
ทั้งหมดนี้จะเป็นดังรูปที่ 2 StAge Gate: SIAM Innovation Model ที่สามารถพัฒนาให้เกิด”นวัตกรรมใหม่ในผลิตภัณฑ์ หรือบริการ” ได้อย่างไม่ยากนักสำหรับธุรกิจ
รูปที่
2 SIAM
Innovation Model
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาธุรกิจ
กรรมการบริหารหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลผู้บริหารระดับกลาง
สถาบันพระปกเกล้า