ในช่วงชีวิตของคนหากลองนับดูก็ประมาณ 16 ปี (ตั้งแต่ ป.1ถึง ป.ตรี) จะอยู่ในสถาบันการศึกษาหรือในระบบโรงเรียนและยิ่งสมัยนี้ก็เรียนกันสูงกว่า ป.ตรีด้วยแล้ว ก็แทบจะนับได้เกือบ 20 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า คนๆ หนึ่งจะเสียเวลาไปเกือบ 1 ใน 3 ของชีวิตที่จะต้องอยู่ในระบบการศึกษาจนกระทั่งมีปริญญาไปประกอบอาชีพทำมาหากิน
ถ้าระบบการศึกษาเป็นกระบวนการที่ออกแบบไว้และจัดการได้อย่างสุดวิเศษ เราก็จะได้ผลผลิตทางการศึกษาที่ดีสู่สังคมและถ้าระบบการศึกษาเป็นตรงกันข้ามผลลัพธ์คงน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง
ปรากฏการณ์ทางการศึกษาในบ้านเราแทบจะไม่น่าเชื่อเลยว่า การศึกษาของไทยเราอยู่ในยุคปฏิรูปการศึกษา และเชื่อยากมากเลยว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา จะทำให้ระบบการศึกษาของไทยเราดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา หรือทำได้ดีเท่าเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำพังแค่งานง่ายๆ เช่น มีทางหรือไม่ที่จะทำให้เด็กไทยและเยาวชนไม่ต้องจมปักอยู่กับการเรียนพิเศษ กวดวิชา ติวสารพัดติว แม้กระทั้งเข้ามหา'ลัย แล้วก็ยังต้องติว ฯลฯ
ุ สิ่งนี้สะท้อนเห็นถึงการบริหารจัดการศึกษา ที่มีองค์กรอิสระแยกออกจากหน่วยงานปกติมาดำเนินการ แต่ยังคงรูปแบบการบริหารและทำงานแบบราชการ หรือคนทำงานยังคิดแบบราชการอยู่
ุ เป็นที่เข้าใจยากมากในองค์กรใหม่ๆ ทางการศึกษาของบ้านเรา ที่มีบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถในระดับที่สูงหรือสูงสุด (จนถึงปริญญาเอก) บางท่านผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมีชื่อในต่างประเทศ แต่ไม่สามารถทำให้การศึกษาในบ้านเราแตกต่างไปจากเดิมที่เคยเป็นมาได้
ุ สิ่งที่เป็นคำถามจากสังคมและซีกธุรกิจคือ การศึกษาของไทยเรามีคุณภาพมาตรฐานเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วหรือไม่ หรือผลผลิตทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นประถม มัธยม อาชีวะและอุดมศึกษา จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้จริงๆ หรือ ฉะนั้นลองมาศึกษาการศึกษาของประเทศพัฒนาแล้วกันบ้างครับ!
Education on the Beach
ความจริงหัวข้อเรื่องนี้ "Education on the Beach" ไม่ได้หมายถึง การศึกษาที่ชายหาดหรือจะไปเรียนอะไรที่ชายหาด ชายทะเล แต่ต้องรับทราบก่อนว่าที่ "ประเทศออสเตรเลีย" เขาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และวิถีชีวิตของชาวออสซี่นี่ชอบทะเลเป็นชีวิตจิตใจ จริงๆ จะเรียกทะเลไม่ได้ล่ะครับต้องเรียกว่า "มหาสมุทร"
ผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาและอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียประมาณเกือบ 1 เดือน สิ่งที่ได้เรียนรู้และพบเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาของเขาเมื่อมองกลับมาบ้านเราแล้วยังต้องพัฒนากันอีกมากทีเดียว
ประการแรก การศึกษาของเขาเป็นอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการศึกษา (Educational Industry) หากมีใครในบ้านเราจะมาบอกว่า การศึกษาบ้านเรานั้นทำเพื่อเยาวชนและอนาคตของชาติ ลองพิจารณาใหม่ได้เลย เช่น
• การศึกษาระดับพื้นฐานของเราเป็นการศึกษาแบบฟรี แต่ในความจริงเสียแต่ค่าบำรุง ค่าคอมพิวเตอร์ ค่าแอร์ ค่าเรียน 2 ภาษา ค่าห้องสมุด ค่าอุปกรณ์กีฬา ชุดนักเรียน-กระเป๋า ฯลฯ รวมแล้วมากกว่าค่าเทอมแบบเดิมที่เคยเสีย
• ระบบการเรียนการสอนของเขาเป็นภาษาอังกฤษ แม้ว่าบ้านเราเป็นภาษาไทย แต่สุดท้ายก็ต้องสอนทั้ง 2 ภาษา คือทั้งภาษาไทยและอังกฤษ สิ่งที่เกิดในบ้านเราคือ โรงเรียนมัธยมทั้งหลายต่างก็เปิดสอน 2 ภาษา โดยไปจ้างฝรั่งตกงานหรือคนต่างชาติที่พูดภาษาอังกฤษได้มาเป็นครูสอนวิชาสามัญ (ไม่มีความรู้ในเนื้อหาวิชานั้นๆ) โดยที่ไม่มีใครคุมมาตรฐาน แต่ภูมิใจได้สนองนโยบายรัฐบาลมีสอน 2 ภาษาในโรงเรียน แต่นักเรียนไม่มีความรู้วิชาสามัญหรือรู้แบบผิดๆ ถูกๆ สิ่งที่ได้คือฟังภาษาอังกฤษกระดิกหูได้ ไม่รู้ว่าถูกต้องหรือไม่ แต่เป็นนโยบายระดับชาติเลยนะเนี่ย!
• เดี๋ยวนี้การเรียนในระดับมัธยมของเราไม่มีการเรียนประว้ติศาสตร์ (ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่แต่ที่สอบถามพ่อแม่เด็กส่วนใหม่จะตอบว่าจริงเพราะลูก ๆ ไม่รู้ประว้ติศาสตร์ไทย ) ต่างประเทศเขาจะเรียนกันเพื่อสร้างให้เกิดความภูมิใจในชาติ ผู้เขียนเองก็เรียนและภูมิใจในความเป็นชาติไทยเช่นคนไทยในยุคก่อนและรุ่นเดียวกัน
• กลับมาที่การศึกษาของประเทศออสเตรเลีย ที่บอกว่าเป็นอุตสาหกรรมเพราะว่ารายได้หลักของประเทศ จะมาจากธุรกิจเหมืองแร่ การศึกษา และการท่องเที่ยว โดยที่มีตัวเลขประมาณกันว่า การศึกษาเป็นรายได้เกินครึ่งของรายได้ของประเทศ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ทั้งนี้ ก็เพราะว่าทั่วโลกเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลในการเรียนรู้ การทำธุรกิจและการติดต่อสื่อสาร มหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียของแต่ละรัฐ จะติดอันดับ ต้น ๆ หรือใน 100 ของโลกไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง กรณีอย่างที่ผู้เขียนไปเรียนที่ UQ (The University of Queensland) ก็ติดหนึ่ง =1 ใน 50 มหา'ลัยชั้นนำของโลก และอยู่ในกลุ่มของ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำ (Group of Eight) ประเทศออสเตรเลีย
ประการต่อมา การเรียนการสอนของเขาใส่วัฒนธรรมไว้ด้วย วิธีการสอนของเขาใส่ทั้งวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการท่องเที่ยวไว้ในเนื้อหาความรู้อย่างแนบเนียน หมายความว่า เขาปลูกฝังความเป็นชาติออสเตรเลียไว้ในเนื้อหาเรียบร้อย
เมื่อเรียนเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ต่างๆ ของประเทศออสเตรเลีย พอหลังเลิกเรียนเราสามารถติดต่อไปซื้อทัวร์เพื่อไปเที่ยวสวนสัตว์ในวันหยุดได้เลย
ประการสุดท้าย เขาสอนและให้ความรู้ที่เป็นมาตรฐานสากล ผู้เขียนได้เรียนวิชาที่ว่าด้วย "English for Academic and Research Communication" ทั้งแนวคิด รูปแบบ และการนำเสนอใช้สิ่งที่เป็นโมเดลของมาตรฐานสากล ดังนั้น ความรู้และเนื้อหาที่ได้รับจึงสามารถนำไปใช้ได้ทั่วทุกประเทศที่เป็นสไตล์แบบตะวันตก สิ่งที่น่าทึ่งมากคือ ไม่เคยได้มีโอกาสเรียนรู้แบบนี้ในระบบการศึกษาบ้านเราครับ!
ผู้เขียนเกือบจะสรุปได้เลยว่า ทำไมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่เราทำกันอยู่ในระบบการศึกษาของไทยเรา จึงล้มเหลวอย่างไม่ต้องสงสัย
สิ่งที่เป็นข้อความรู้ที่ดีคือ
• มหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศต้องพยายามก้าวขึ้นสู่ความเป็นมาตรฐานระดับโลก เราคงต้องทบทวนองค์กรอิสระทางการศึกษาไทยใหม่หมด ระบบการเรียนการสอนของเราช่วยให้มีความคิดที่อยู่ในกรอบ และฉกฉวยประโยชน์จากสังคม และเดินไปสู่วัฒนธรรมการขาดไร้จริยธรรมในระดับสูงของชาติ
• คนรุ่นใหม่ในเอเชียหรืออาเซียน ต่างมุ่งหน้าไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบธุรกิจและสังคมโลกในอนาคตที่จะก้าวไปยืนเคียงข้างชาติตะวันตกได้ ขณะที่เรายังชื่นชมกับลัทธิแจกเงิน สื่อสารบริโภคนิยม (โทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืน) และฝันจะเป็นดาราเป็นนักร้อง ฯลฯ) ในอนาคตชาติเราคงถูกทุนต่างชาติเข้ามากอบโกยและเราคนไทยจะทำอะไรได้ นอกจากจะเป็น "นักรับจ้างมืออาชีพ" คงต้องปฏิรูปยกกำลังสองเลยทีเดียวเกี่ยวกับระบบการศึกษาของชาติ
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants
No comments:
Post a Comment