Sunday, May 10, 2009

จะนิยมไทยหรือจะไปสู่อินเตอร์

 สิ่งที่เป็นปัญหาของหลายๆ ประเทศคือ  คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน  มักจะกลัวว่าเมื่อมีการยอมรับและเปิดไปสู่โลกาภิวัฒน์มากๆ จะทำให้เกิดผลดังนี้        
     -การสูญเสียค่านิยม วัฒนธรรมหรือประเพณีอันดีงามของชาตินั้นๆ ไป       
     -ธุรกิจภายในประเทศจะไม่สามารถต่อสู้หรือแข่งขันกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติได้       
     -ภาษาประจำชาติจะถูกกลืนหรือละเลยไปสนใจแต่ภาษาอังกฤษ ภาษาคอมพิวเตอร์  หรือ Short Messages   

     
 ประเด็นเหล่านี้ผู้บริหารประเทศหรือผู้บริหารธุรกิจต้องให้ความสำคัญและความสนใจมากเป็นพิเศษ
        
ความจริงที่ 1 ของประเทศ

 ผู้เขียนมีความเห็นว่าในเรื่องของการแข่งขัน หรือการเปิดรับให้มีธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเข้ามาลงทุนหรือค้าขายในบ้านเรา จำเป็นจะต้อง        
     # มีการปกป้องและคุ้มครองธุรกิจในประเทศให้สามารถแข่งขันและต่อสู้กับธุรกิจข้ามชาติได้  มิฉะนั้นธุรกิจในประเทศก็จะล้มหายไปจนกระทั่งไม่เหลือเลย 
     # ขณะเดียวกันก็ต้องมีสิ่งจูงใจให้ธุรกิจข้ามชาติสนใจที่จะก้าวเข้ามาลงทุน  แต่อยู่ในกรอบที่เป็นแบบ WIN-WIN 
     #   เรื่องของภาษาประจำชาติ ค่านิยม วัฒนธรรม  ผู้เขียนมีความเห็นว่า การบำรุงรักษาเป็นความจำเป็นแต่จะต้องไม่โอเวอร์จนกลายเป็นสิ่งที่ถ่วงความเจริญหรือพัฒนาการของประเทศ  มิฉะนั้นประเทศก็คงไม่สามารถออกไปแข่งขันในเวทีโลกที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาได้ 
     # ผู้เขียนเคยอ่านรายงานผลการจัดประชุมสัมมนา "ซีอีโอ ไอซีที ฟอรัม" โดยเนคเทค (อ้างจากประชาชาติธุรกิจ ฉ.วันจันทร์ที่ 16-พุธที่ 18 ธ.ค.45 หน้า 32) สรุปว่า 
     - อุปสรรคเรื่องความพร้อมของวิศวกรภาคไอทีที่ยังมีจำนวนน้อย  รวมทั้งมีความรู้ความสามารถในเชิงเทคนิคไม่เพียงพอต่อความต้องการ  รวมทั้งปัญหาการสื่อสารภาษาอังกฤษ 
     - ปัญหาด้านภาษาและความรู้พื้นฐานเชิงเทคนิคนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเบนความสนใจไปที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์และฟิลิปปินส์แทน 
     - บทบาทของเนคเทคจะต้องหันไปมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาสำหรับภาคอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์  เนคเทคควรมีวิธีคิดแนวใหม่ เช่น ควรผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนกับบริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติในการทำวิจัยพัฒนา  ไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะ การลงทุนตั้งโรงงานเท่านั้น 


 แสดงให้เห็นว่า  การพัฒนาให้คนในชาติ หรือธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกธุรกิจ  ในโลกยุคโลกาภิวัตน์จะคงมีหลายๆ สิ่งที่ประเทศไทยโดยเฉพาะภาครัฐบาลจะต้อง "คิดใหม่ ทบทวนใหม่"  อีกหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ "การนิยมไทยกับการจะไปสู่อินเตอร์" 

ความจริงที่ 2 ของประเทศเพื่อนบ้าน

 ข่าวคราวของการพัมนาประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะในวิธีการพัฒนาประเทศหรือ การแก้ไขในช่วงเศรษฐกิจวิกฤต  ซึ่งดำเนินนโยบายที่แตกต่างกับประเทศไทย  อินโดนีเซียและ เกาหลีใต้ก็คือ  มาเลเซียไม่ยอมรับการช่วยเหลือจาก IMF ทำให้มาเลเซียมีอิสระทางการเงิน มากกว่าและไม่ต้องออกกฎหมายเพื่อปกป้องนักลงทุนจากต่างชาติเท่ากับประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือจาก IMF 
 ขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียได้ประกาศนโยบายมาได้ หลาย ปีแล้วที่จะใช้ภาษาอังกฤษให้เป็นภาษากลางของประเทศ 
 ปัจจุบันมาเลเซียเอาจริงขึ้นไปอีกโดยเมื่อ ปี(2546)ที่ผ่านมาแล้ว ในการเรียนการสอนของระดับประถมศึกษา (1-6) 
 "….. จะต้องใช้ภาษาอังกฤษสอนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์…"
       ดร.มหาเธร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียกล่าวในขณะนั้นว่า  สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับการยอมรับในภาษาอังกฤษ  แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ทั้งหมดแต่อย่างน้อยที่สุด คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นกุญแจไขไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่  
           เราไม่มีทางเลือก  ซึ่งเราต้องทำการเปลี่ยนแปลง  เราต้องทำในสิ่งนี้เพราะว่าคนของเรายังมีการศึกษาไม่มากนัก  มิฉะนั้นนโยบายทั้งหมดของเราก็จะล้มเหลว 
           รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ  เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการสอนภาษากลางจากภาษา Bahasa Malaysia เมื่อ 1 ทศวรรษมาแล้ว 
 แม้ว่าเราจะเป็นชาตินิยม  แต่เราก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโดยหวังว่า โรงเรียนเปลี่ยนไปสอนภาษาอังกฤษก็จะนำเราไปสู่โรงเรียนระดับนานาชาติแล้วก็จะดึงดูดนักเรียนนานาชาติ ได้ด้วย  (อ้างจาก New Straits Times : Friday, October 11, 2002 P.2) 

           สุดท้ายแล้วจะมีการใช้ภาษาอังกฤษในมาตรฐานที่สูงขึ้นเพราะจะมีการสอน ทุกวิชาในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า  เรามีความเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษ   
       NCWO (The National Council of Women Organizations) ให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล โดย   
      - เห็นว่าการใช้ภาษาอังกฤษในการสอนทั้ง 2 วิชา  ควรที่จะครอบคลุมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วย   
      - โรงเรียนทั้งหมดควรแลกเปลี่ยนหลักสูตรในวิชาที่มีการสอนเหมือนกัน  
(อ้างจาก New Strait Times : Thursday, October 3, 2002 P.2)   
       รัฐมนตรีด้านการศึกษาสรุปว่า  จะมีการอบรมครู 192,000 คนเพื่อสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษในช่วงระยะเวลา 6 ปี  โดยสิ้นปี'45 มีจำนวน  27,000 คน  ปี'46 มีจำนวน 46,000 คน  ปี'47 จำนวน 23,000 คน  ปี'48 จำนวน 38,000 คน   ปี;49 จำนวน 38,000 คนและปี'50 จำนวน 20,000 คน   
 โดยในปี'50 เมื่อมีการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เต็มระบบทุกระดับชั้น จะมีครูทั้ง 2 วิชาอย่างเพียงพอ   (อ้างจาก New Strait Times : Wednesday, October 23, 2002 P.9)

 สิ่งที่ผู้เขียนหยิบยกกรณีการปรับระบบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษของประเทศมาเลเซียมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า  ในยุคของ IT และ โลกาภิวัตน์  ประสิทธิภาพของธุรกิจอยู่ที่รากฐานของการเรียนรู้ใน 2 วิชานี้และต้องเรียนแบบอินเตอร์ ธุรกิจจึงจะโกอินเตอร์  จะน่ากลัวมากเลยถ้าประเทศมาเลเซียทำสำเร็จในระยะเวลา ไม่เกิน 1 ทศวรรษนี้  

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

No comments: