เจาะกึ๋น KM ในเมืองไทย โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กระแสของ KM หรือ Knowledge Management (การจัดการความรู้) ในบ้านเราดูจะเป็นเครื่องมือการจัดการที่แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและสิ่งที่เกิดไปพร้อมๆ กันคือ กระจายไปบนความสับสนพอสมควร
มีส่วนราชการหลายแห่งได้เชิญให้ผู้เขียนไปบรรยายในเรื่องของ KM ติดต่อกันในช่วง 2-3 เดือน ผู้เขียนเลยถามว่าทำไมจึงสนใจกันมากขึ้นส่วนราชการที่ติดต่อมาได้ให้เหตุผลว่า เพราะจะต้องจัดทำแผนเรื่อง KM ส่งให้ส่วนกลางเพราะกำหนดให้ต้องส่งมิฉะนั้นตัวชี้วัดจะไม่ผ่านเพราะเขียนไว้ว่าจะทำในเรื่อง KM
มีคำถามเชิงสับสนมายังผู้เขียนว่า ระหว่าง KM กับ L/O (Learning Organization) หรือองค์การแห่งการเรียนรู้ ซึ่งในตอนหลังค่อยพบว่าเริ่มเข้าใจถูกต้องว่าอะไรต้องมีมาก่อนอะไร
ในช่วงที่มีน้ำท่วมถล่มบ้านเรือนในจังหวัดอุตรดิตถ์ทำให้ผู้เขียนนึกถึงว่าแต่ละจังหวัดต้องทำแผน KM แล้วอดนึกไม่ได้ว่า “ที่ป่าวประกาศว่ามีแผน KM มีภูมิปัญญาท้องถิ่น....ฯลฯ” สิ่งเหล่านี้บอกผลลัพธ์ที่ชัดเจนของเรื่อง KM ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
KM ในภาคตำรา
ผู้เขียนเห็นว่าก่อนที่จะไปถึงเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ KM ซึ่งมีพัฒนากันหลายเวอร์ชั่นนี้ อยากสรุปนำให้เห็นถึงสิ่งที่โลกธุรกิจมีความเข้าใจเกี่ยวกับ KM นี้อย่างไรบ้าง
จากการสำรวจของ European Top 200 Companies (2000) พบว่า
1.KM ที่เข้าใจกันนั้นหมายถึงสิ่งต่อไปนี้
เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์การ ซึ่งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนของสารสนเทศ ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างพนักงานและหน่วยงาน
เป็นวิธีที่บริษัทเน้นจริงจัง: ผลรวมของกระบวนทำงานที่กำหนดการสร้าง การกระจายและประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายองค์การ
2.โดยสรุปแล้ว KM หรือ การจัดการความรู้คือ
สิ่งที่สร้างนิยามขึ้นกันเองของธุรกิจ โดยให้นิยามว่า“ผลรวมของกระบวนทำงานที่สนับสนุนต่อการสร้าง การประเมิน การกระจายและการประยุกต์ความรู้เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายที่ได้นิยามไว้แล้ว”
3.ผู้เขียนจึงนำความรู้ดังกล่าวมาสรุปต่อยอดไว้ว่า
ความรู้เป็นกระบวนการด้านพลวัตของคนที่พิสูจน์ความเชื่อส่วนตนจาก “ความจริง”ความรู้ในองค์การหรือคนนี้จะเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วๆ ไปจะมีอยู่ 2 ลักษณะโดยมีทั้งนิยามแน่ชัด (Explicit) และโดยปริยาย (Tacit) "เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแปลงความรู้โดยปริยาย (Tacit Knowledge) บริษัทก็จะมีการปรับความรู้โดยนิยามแน่ชัด (Explicit Knowledge)Robert Buckman, CEO BUCKMAN LABS (1998)
ถ้าจะอ้างถึง Nonaka และ Takeushi (1995) ได้เปิดแนวคิดของ ความรู้ทั้ง 2 ลักษณะผ่านทางหนังสือ The Knowledge Creating Company ได้ให้ความหมายของความรู้ทั้ง 2 ลักษณะนี้ไว้ว่า
ความรู้โดยนิยามแน่ชัด (Explicit Knowledge) สามารถพูดได้อย่างชัดเจนในภาษาที่เป็นทางการ รวมถึงข้อความ ไวยากรณ์ ลักษณะตัวแบบคณิตศาสตร์ คุณลักษณะเฉพาะ คู่มือและอื่นๆ“ความรู้ชนิดนี้สามารถส่งถ่ายข้ามไปยังแต่ละบุคคลอย่างมีรูปแบบและง่ายๆ”
ความรู้โดยปริยาย (Tacit Knowledge) เป็นสิ่งที่มีภาษาเป็นทางการหรือรูปแบบ เป็นความรู้ส่วนบุคคลที่ฝังตรึงในประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความเชื่อของแต่ละคน มุมมองและระบบคุณค่า
การจัดการความรู้หรือ KM ตามที่ Nonaka และ Takeushi ให้นิยามไว้ดังนี้“การจัดการความรู้เป็นกระบวนการของการสร้างความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง การเผยแพร่ความรู้อย่างกว้างขวางโดยตลอดทั้งองค์การและการนำไปสู่ผลิตภัณฑ์/บริการ เทคโนโลยีและระบบใหม่อย่างรวดเร็วบางครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์การ”
และในการสร้างความรู้จะมีอยู่ 2 มิติดังภาพ
จากมิติของระดับความรู้ที่มีอยู่ในภาพ ความรู้จะถูกสร้างจากบุคคลเท่านั้น องค์การไม่สามารถสร้างความรู้โดยปราศจากบุคคล องค์การสนับสนุนการสร้างสรรค์ของบุคคลหรือจัดให้มีเนื้อหาเพื่อบุคคลจะได้นำไปสร้างความรู้ การสร้างความรู้ในองค์การควรจะมีความเข้าใจในกระบวนการที่เรียกว่า การขยายระดับความรู้ของบุคคลในองค์การ และการตกผลึกความรู้จะเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายความรู้ขององค์การ กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นภายในองค์การ เช่น ในรูปแบบของ “ชุมชนของการปฏิบัติ" ซึ่งเป็นการข้ามระดับหรือขอบเขตระหว่างกันหรือข้ามภายในองค์การ
สำหรับมิติด้านทฤษฎีความรู้นั้น โนนากะและทาเคอูชิ นำมาจากไมเคิล โพแลนยี (Polanyi’s 1996, อ้างจาก Nonaka & Takeuchi, 1995) ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่าง ความรู้โดยปริยาย (Tacit Knowledge) และความรู้โดยนิยามแน่ชัด (Explicit Knowledge) โดย โพแลนยี เห็นว่า มนุษย์จะได้มาซึ่งความรู้จากการสร้างและจัดการอย่างแข็งขันด้วยประสบการณ์ของตนเอง ความรู้จึงสามารถแสดงออกในรูป คำและจำนวน ซึ่งเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยขององค์ความรู้ (Body of Knowledge) ที่มีอยู่
ดังนั้นการสร้างความรู้จึงเป็นลักษณะของบันไดความรู้ขององค์การระหว่างความรู้โดยปริยาย และความรู้โดยนิยามแน่ชัด ผ่านวิธีการใน 4 วิธีคือ สังคมปะกิต (Socialization: S) การนำความรู้สู่ภายนอก (Externalization: E) การรวมเข้าด้วยกัน (Combination: C) และการรวมระหว่างกันโดยผ่านการเรียนรู้ (Internalization: I) ซึ่งมักจะเรียกกันว่า ตัวแบบทานากะเอสอีซีไอ (Tanaka’s SECI Model)
โดยรวมผู้เขียนให้ความหมายของการจัดการความรู้หรือKMว่าเป็นเครื่องมือ เทคนิคและกลยุทธที่รวบกระบวนการขององค์การ สารสนเทศ เทคโนโลยี กลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์การให้สามารถสนับสนุนการจัดการ และการเปลี่ยนแปลงความรู้และการเรียนรู้ของคนเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การปัญหาสำคัญของการใช้ KM ในเมืองไทยที่ผู้เขียนพบ จะมี
ความเข้าใจใน Tacit และ Explicit ไม่แน่ใจว่าเข้าใจตรงกันหรือไม่
ที่ Nonaka และ Takeuchi บอกว่า Tacit Knowledge“เป็นสิ่งที่สามารถรู้มากกว่าที่เราจะสามารถบอกได้” (We can know more than we cal tell)” โดยอ้างมาจาก Polanyi (1983) เป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่
มีงานวิจัยของ Tsoukas (2001) อธิบายว่า Tacit Knowledge ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็น Explicit Knowledge และจะจัดการได้
นี่คือ สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงภายหลังจากแนวคิดเรื่องนี้แพร่ขยายมากขึ้น ไว้คราวหน้าผู้เขียนจะเจาะกึ๋น KM ในเมืองไทยให้ลึกกว่านี้ครับ
No comments:
Post a Comment