ความเชื่อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ว่า มหา’ลัยเป็น “ศูนย์รวมของสรรพความรู้” (Knowledge Database) มีมาอย่างต่อเนื่องคงเป็นสภาพที่เราสามารถเห็นกันได้ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในประเทศไทยที่เรียกกันว่า “อุดมศึกษาไทย” คงมีสภาพเช่นนี้มาตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน
ความจริงแล้วธุรกิจมีองค์ความรู้ (Body of Knowledge) ที่ยิ่งใหญ่และพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น GE, GM, Ford, Google, Microsoft, Apple บริษัทเหล่านี้สอนให้มหา’ลัยรู้ว่าโลกความจริงของธุรกิจเขากำลังทำอะไรอยู่และเสนอเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ใหม่อะไรที่มหา’ลัยจะต้องเดินตาม
ยิ่งกรณีของ Nonaka กับ Takauchi ที่ศึกษาบริษัทญี่ปุ่นแล้วเขียนเป็นตำรับตำราออกมาว่า บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้สร้างความรู้กันได้อย่างไร หรือ Knowledge-Creating Company จนกระทั่งโด่งดังว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดการความรู้(KM: Knowledge Management)
สิ่งเหล่านี้บ่งบอกได้ชัดเจนว่า ธุรกิจมีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
• คงไม่แปลกใจอย่าง Kotler, Porter Kaplan & Norton ที่สร้างเทคนิคและทฤษฎีด้านการตลาด การแข่งขันของประเทศ กลยุทธออกมาจนธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ให้การยอมรับนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เพราะมีความเป็นอาจารย์มหา'ลัย ที่แตกต่างจากบ้านเราเหตุผลสำคัญที่มีสิ่งเหล่านี้ได้เพราะ
(1)โลกาภิวัตน์ เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ของผู้-บริโภค ฯลฯ ที่มีมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ธุรกิจชั้นนำต้องก้าวไปสู่การพัฒนาและสร้างความรู้ขึ้นมาใช้เอง
(2)ธุรกิจที่อาจจะรอไม่ได้ในต่างประเทศจะอาศัยห้องแลปที่ก้าวล้ำหน้าของมหา’ลัยได้ช่วยสร้างความรู้ให้ธุรกิจ ซึ่งยังประโยชน์ให้อาจารย์ในมหา’ลัยได้ลงมาจาก “หอคอยงาช้าง” ได้ยืนสูดอากาศกลิ่นไอของโลกความจริงทางธุรกิจ
ความรู้เหลือใช้จากธุรกิจสู่อุดมศึกษาไทย
เมื่อผู้เขียนรับผิดชอบในการเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจเพื่อทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ธุรกิจต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสร้างวิสัยทัศน์ด้วยเทคนิคใหม่ๆ เช่น Scenario Analysis (เก่าแล้วในต่างประเทศ) การใช้ Blue Ocean Strategy (BOS) (กลยุทธทะเลสีน้ำเงิน) อย่างเต็มชุดเพื่อสร้าง “นวัตกรรมเชิงมูลค่า” (Value Innovation) ให้กับธุรกิจ การจัดทำกลยุทธแนวใหม่ด้วย BSC & KPIs และ BOS ที่บูรณาการอย่างลงตัวหรือแม้กระทั่งการสร้าง KS (Knowledge Sharing) ด้วยเทคนิค Knowledge Cafe, KM Mind Map และ AAR (After Action Review)
ทั้งหมดเหล่านี้ ผู้เขียนไม่เคยได้เรียนรู้หรือต้องเข้าไปเรียนจากสถาบันอุดมศึกษาไทยเลย
ถ้าจะแบ่งระดับของความรู้ที่ธุรกิจมีอยู่จะพอสรุปได้เป็น 3 ระดับ
ระดับสูงสุด คือ สินทรัพย์ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Asset) ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดยอดของมนุษยชาติที่จะใช้สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจที่มีจะต้องมีการวิจัยทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในรูปของ “โมเดลทางความรู้”
ที่ไม่เผยแพร่ไปสู่ภายนอกเพราะเป็น “รหัสลับนวัตกรรม” เมื่อใช้ไปจนล้าสมัยและมีสิ่งใหม่ที่ดีกว่า สมบูรณ์กว่าก็จะปล่อย
สินทรัพย์ทางความรู้ (KA) ที่ล้าสมัยนี้ให้มหา’ลัยได้เรียนรู้และนำไปทดลองใช้ในการเรียนการสอน
ระดับรอง เป็นสิ่งทรัพย์ความรู้ (Knowledge Asset: KA) ที่ธุรกิจได้สังเคราะห์ขึ้นมาใน 4 รูปแบบด้วยกันคือ (1) Routine KA เช่น โนว์-ฮาว์ของการปฏิบัติงานในแต่ละวันของแต่ละคนหรือองค์กร (2) Experimental KA ความรู้ที่เป็นประสบการณ์ของแต่ละคน (3) Systemic KA ระบบและแพคเกจของความรู้ที่อยู่ในรูปเอกสาร คู่มือ ฐานข้อมูล สิทธิบัตรหรือไลเซนส์ และ (4) Conceptual KA เป็นความรู้ที่กระจ่างชัดโดยผ่านออกมาในลักษณะภาพ (Image) สัญลักษณ์ (Symbol) และตัวความรู้ (Knowledge) เช่น แนวคิดผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ มูลค่าของแบรนด์
ระดับล่าง คือ พอร์ตโฟลิโอความรู้ ซึ่งจะมี “โบรกเกอร์ความรู้” (Knowledge Broker) เป็นผู้จัดแจงที่จะเลือกความรู้เหลือใช้ (Waste Knowledge/Useless Knowledge) เผยแพร่ออกมาหรือให้มหา’ลัยได้นำไปศึกษาค้นคว้าหรือทดลองใช้ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ล้ำหน้าหรือทันสมัยกว่าสิ่งที่มหา’ลัยมีอยู่
ดังนั้น อุดมศึกษาไทย หากยังจะเดินตามกรอบการศึกษาไทยอีก 15 ปีข้างหน้า ท่าทางคงจะไม่ไปไหนเพราะมหา’ลัยโลกที่จะสร้างองค์ความรู้ได้นั้นส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 150 ปีขึ้นไป มีอาจารย์ที่มักจะเกษียณจากธุรกิจเข้ามาเป็นผู้สอน ไม่ใช่ประเภทเรียนรวดเดียว 3 ม้วนจบ (ป.ตรี-ป.โท-ป.เอก) กว่าจะใช้งานได้ความรู้ที่มีก็เก่าเก็บเสียแล้ว
No comments:
Post a Comment